ส่องแนวโน้มพฤติกรรมการจับจ่ายเทศกาลตรุษจีน


“ตรุษจีน” เป็นหนึ่งในเทศกาลที่คนไทยให้ความสำคัญ และเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากในรอบปี เนื่องจากประเทศไทยมีประชากรเชื้อสายจีนจำนวนมาก ทำให้วัฒนธรรมจีนถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน การเลือกซื้อของไหว้เจ้า ของไหว้บรรพบุรุษ รวมถึงการแก้ชง มีส่วนสำคัญทำให้การจับจ่ายของผู้คนในสังคมช่วงนี้คึกคักเป็นพิเศษ เป็นโอกาสที่แบรนด์และธุรกิจสามารถสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภค และดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้จากการทำความเข้าใจใน “Customer Insight” ผ่านเทศกาลตรุษจีน


บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มการเลือกซื้ออาหารไหว้เจ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนของผู้บริโภคบนโซเชียลมีเดีย ผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social listening) ในช่วงวันที่ 1 -  20 มกราคม 2568 


ส่องแนวโน้มพฤติกรรมการจับจ่ายเลือกซื้ออาหารไหว้เจ้า

จากการวิเคราะห์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับแนวโน้มพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารไหว้เจ้าของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน พบว่า การโปรโมตหรือการประชาสัมพันธ์ของร้านค้า มีการนำเสนอสินค้ารูปแบบ “เซ็ตเมนู หรือ ชุดอาหาร” มากที่สุด แต่ผู้บริโภคกลับให้ความสนใจ “อาหารและขนมพร้อมทาน” มากกว่า โดยสามารถดึงดูดความสนใจจากความแปลกใหม่และหลากหลาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้ร้านค้าจะพยายามโปรโมตสินค้าที่เตรียมพร้อมแบบชุด อำนวยความสะดวกต่อการนำไปไหว้ แต่ผู้บริโภคยังคงมองหาความสะดวกสบายที่สุดในการเลือกซื้อสินค้าสำเร็จรูปอย่าง “อาหารพร้อมทาน” 



การประชาสัมพันธ์: 

  • เซ็ตเมนูหรือชุดอาหาร คือ ชุดไหว้มงคลคาวหวาน ที่จัดเป็นเซ็ตในรูปแบบต่าง ๆ เป็นสินค้าที่ร้านค้าทำการโปรโมตหรือประชาสัมพันธ์มากที่สุด (68%) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ร้านค้าตระหนักถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วในการจัดเตรียมอาหารในช่วงเทศกาล
  • อาหารและขนมพร้อมทาน คือ อาหารปรุงสำเร็จ และขนมที่จัดโปรโมชันในช่วงเทศกาลตรุษจีนได้รับการโปรโมตหรือประชาสัมพันธ์รองลงมาที่ 26% 
  • วัตถุดิบทำอาหาร คือ ของสดสำหรับนำไปประกอบอาหาร ได้รับการโปรโมทน้อยที่สุด (6%) ซึ่งอาจสะท้อนแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้หันไปเลือกซื้อสินค้าที่พร้อมใช้มากกว่าการทำอาหารเอง



ผู้บริโภค (Engagement):

  • อาหารและขนมพร้อมทาน ได้รับความสนใจสูงสุดจากผู้บริโภค (63%) ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาความสะดวกในการไหว้เจ้าในรูปแบบที่พร้อมใช้
  • เซ็ตเมนูหรือชุดอาหาร ได้รับความสนใจรองลงมา (27%) ซึ่งแสดงว่าแม้จะได้รับการประชาสัมพันธ์จากร้านค้าอย่างหนัก แต่ผู้บริโภคอาจจะยังมองหาความสะดวกสบายและประหยัดเวลาจากอาหารที่พร้อมทาน
  • วัตถุดิบทำอาหาร มีการตอบสนองน้อยที่สุด (10%) ซึ่งบ่งบอกถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความง่ายและไม่อยากใช้เวลามากในการเตรียมอาหารในช่วงเทศกาล


ธุรกิจแก้ชงออนไลน์: ความเชื่อที่ปรับตัวสู่โลกดิจิทัล

นอกจากคนไทยเชื้อสายจีนให้ความสำคัญกับการไหว้เจ้า และไหว้บรรพบุรุษแล้ว ยังนิยมการทำบุญเสริมดวงชะตา โดยเฉพาะในปีที่เรียกว่า “ปีชง” ซึ่งเป็นความเชื่อทางโหราศาสตร์จีนว่าอาจมีผลกระทบต่อดวงชะตาของแต่ละคน การแก้ชงจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยการไหว้ "เทพไท้ส่วยเอี๊ย" ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยลดเคราะห์และเสริมมงคลให้ชีวิต เป็นธรรมเนียมสืบทอดกันมานานในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี


จากข้อมูลในโซเชียลมีเดีย พบว่า ปัจจุบันในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ประชาชนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจใช้บริการแก้ชงออนไลน์เพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จาก Engagement การแก้ชงผ่านช่องทางออนไลน์ มีสัดส่วนถึง 34% โดยมีธุรกิจและบริการเกิดใหม่ที่น่าสนใจ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมการทำบุญและการแก้ชงที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

  • แก้ชงออนไลน์ ตัวเลขมาจากโพสต์การรับบริจาค การรับจ้างบริการแก้ชง ทำบุญผ่านช่องทางออนไลน์ (30 Mentions, Engagements 4,805 ครั้ง)
  • แก้ชงที่วัด ตัวเลขมาจากโพสต์แนะนำสถานที่แก้ชง หรือวิธีแก้ชงแบบดั้งเดิมที่ต้องไปยังสถานที่จริง (379 Mentions, Engagements 9,510 ครั้ง)


ตัวอย่างธุรกิจและบริการแก้ชงออนไลน์ 

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการเติบโตของธุรกิจแก้ชงและทำบุญออนไลน์ ซึ่งมีการเปิดให้บริการแพลตฟอร์มทำบุญออนไลน์มากขึ้น โดยการร่วมมือกับวัดและศาลเจ้า

  1. บริการทำบุญสร้างกุศล (แก้ชง) กับทางวัดโดยตรงผ่านระบบออนไลน์ ทาง LINE @lengnoeiyionline (เล่งเน่ยยี่ออนไลน์)
  2. ศรัทธา.online: ธุรกิจให้บริการ รับขอพร แก้บน แก้ชงออนไลน์ ผ่าน Line Chatbot เพื่อตอบโจทย์ผู้มีจิตศรัทธาที่ไม่มีเวลาว่าง เดินทางลำบาก และรู้สึกกังวลใจ เมื่อพรที่ขอไว้เป็นจริงแต่ไม่ได้กลับไปแก้
  3. บริการแก้ชงออนไลน์ผ่าน Zipevent : ผู้มีจิตศรัทธาสามารถเข้าร่วมทำพิธีผ่านทางออนไลน์ (Virtual Event) ณ ศาลเจ้าท่งเฮงตั๊ว ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดยฝากดวงกับเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย เพื่อสะเดาะเคราะห์ แก้ปีชง ให้แคล้วคลาดปลอดภัยกันถ้วนหน้า ซึ่งนอกจากจะแก้ชงแล้วก็ยังเป็นการเสริมดวงชะตา เสริมเฮง ต้อนรับปีใหม่อีกด้วย



5 สถานที่แก้ชงยอดนิยมในโซเชียล

  1. วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.
  2. วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
  3. ศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กทม.
  4. วัดโพธิ์แมนคุณาราม เขตยานนาวา กทม.
  5. วัดหัวลำโพง เขตบางรัก กทม.


ธุรกิจแก้ชงออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยไม่เพียงตอบโจทย์ความสะดวกสบายของผู้บริโภคยุคดิจิทัล แต่ยังสะท้อนถึงการปรับตัวของธุรกิจที่เชื่อมโยงประเพณีดั้งเดิมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว อีกทั้งความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการนำเสนอข่าวและคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับปีชงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การแก้ชงพัฒนาเป็นทั้งรูปแบบดั้งเดิมที่ผู้คนเดินทางไปวัดหรือศาลเจ้า และบริการออนไลน์ที่ช่วยให้การรักษาความเชื่อและประเพณีเป็นเรื่องง่ายและทันสมัยมากขึ้น

ใหม่กว่า เก่ากว่า