ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ พัฒนา Halal Route แอปพลิเคชันชี้พิกัดแหล่งร้านอาหาร ที่พัก มัสยิด ทิศละหมาด และสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่สอดคล้องตามหลักการท่องเที่ยววิถีอิสลาม หวังช่วยนักท่องเที่ยวมุสลิมเดินทางในประเทศไทยอย่างสบายใจ และยังเป็นการหนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เติบโต พร้อมรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมที่มีจำนวนมากขึ้น
การท่องเที่ยวฮาลาล หรือการท่องเที่ยววิถีอิสลาม เป็นทิศทางการท่องเที่ยวที่น่าจับตา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมราว 168 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนการเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ถึง 5% นักท่องเที่ยวมุสลิมจำนวนมหาศาลเหล่านี้ไปเที่ยวที่ไหนกัน?
ผลจากการจัดอันดับจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลกโดย Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index หรือ GMTI 2024 เผยว่าประเทศไทยเป็นอันดับที่ 32 ที่นักท่องเที่ยวมุสลิมนิยมไป
ประเทศไทยมีเสน่ห์หลายอย่าง นอกจากธรรมชาติ ศิลปะ และวัฒนธรรมอันงดงามแล้ว ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ผู้คนหลายเชื้อชาติและศาสนาอยู่ร่วมกันได้ ก็เป็นจุดขายสำคัญเพราะสังคมมีลักษณะเปิดและเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวทุกชาติและศาสนา อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่นักท่องเที่ยวมุสลิมพบเวลาท่องเที่ยวในประเทศไทย คือ การหาร้านอาหารฮาลาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล การหาโรงแรมที่พัก หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่มีพื้นที่บริการ (เช่น การละหมาด) ถูกต้องตามหลักวิถีอิสลาม
“ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนักท่องเที่ยว 100 คน จะเป็นชาวมุสลิมอยู่ 20 คน ถือเป็นจำนวนที่เยอะและมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้นทุกปี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจึงควรให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แต่ปัจจุบันการจัดการท่องเที่ยวที่รองรับวิถีการท่องเที่ยวฮาลาลยังไม่เพียงพอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเงื่อนไขในการปรับเปลี่ยนการให้บริการให้ได้มาตรฐานฮาลาลมีความยุ่งยากและมีรายละเอียด การจัดการบริการนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจึงไม่ค่อยแพร่หลายนัก” รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาที่นำไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชัน “Halal Route”
“คำว่า วิถีฮาลาลไม่ได้มีแค่เรื่องอาหาร แต่มันครอบคลุมการใช้ชีวิตในทุก ๆ ด้านของชาวมุสลิม แอปพลิเคชันนี้จะเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวทั่วไทยให้พี่น้องมุสลิมจากทั่วโลกเดินทางพร้อมปฏิบัติศาสนกิจได้ตามหลักศาสนาอิสลาม”
หลังจากที่แอปพลิเคชัน Halal Route เปิดตัวให้ผู้สนใจดาวน์โหลดได้ฟรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ.2020) ก็มีการอัปเดตและอัปเกรดอย่างต่อเนื่อง และได้รับการรีวิวที่ดีจากผู้ใช้งาน รศ.ดร.วินัยมั่นใจว่าแอปพลิเคชัน “Halal Route” จะช่วยผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมได้มากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ช่วยพี่น้องเพื่อนชาวมุสลิมให้เดินทางท่องเที่ยว กิน พักผ่อนทั่วประเทศไทยได้อย่างสบายใจสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม
- อาหาร – ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวของกลุ่มมุสลิม เพราะชาวมุสลิมจะถูกห้ามไม่ให้บริโภคเนื้อสุกร สุนัข สัตว์มีพิษ สัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร สัตว์ที่ตายเอง เหล่านี้ถือว่าเป็นหะรอม หรือผิดหลักศาสนา แต่จะสามารถบริโภคเฉพาะอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลเท่านั้น
- สิ่งอำนวนความสะดวกในการละมหาด – ชาวมุสลิมที่เคร่งครัดจะละหมาดเพื่อแสดงความเคารพต่อพระเจ้าวันละ 5 เวลา คือ ช่วงเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เที่ยง บ่าย หลังพระอาทิตย์ตก และตอนกลางคืน ดังนั้น สถานที่ท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวฮาลาล จึงควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการละหมาด เช่น การมีห้องละหมาดแยกชาย-หญิง และการมีสถานที่สำหรับชำระล้างร่างกายก่อนละหมาด เป็นต้น
- การให้บริการในช่วงเดือนรอมฎอน – เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอด คือระงับการกิน การดื่ม การสูบ การเสพสุขทางเพศ และพฤติกรรมที่เป็นบาปอื่น ๆ ในช่วงเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตก เพื่อแสดงความภักดีต่อองค์อัลเลาะห์ ดังนั้นสำหรับชาวมุสลิมที่จำเป็นต้องออกเดินทางไปต่างแดนในช่วงนี้ จึงมักมองหาโรงแรมและการบริการที่เอื้อต่อการถือศีลอดดังกล่าว เช่น โรงแรมที่สามารถเตรียมอาหารฮาลาลบริการ หรือที่เรียกว่า ซะโฮร์ ให้ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เป็นต้น
- สุขอนามัยในห้องน้ำ – “น้ำ” เป็นสิ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด และตามหลักศาสนาอิสลาม ความสะอาดทางกายภาพเป็นองค์ประกอบสำคัญของชาวมุสลิม ชาวมุสลิมจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสุขอนามัยในห้องน้ำ และน้ำที่สะอาด
- กิจกรรมที่ไม่ใช่ฮาลาล – เมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ชาวมุสลิมมักหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไม่ใช่ฮาลาล เช่น สถานที่ที่บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานบันเทิง และบ่อนการพนันคาสิโน เป็นต้น
- พื้นที่สันทนาการที่เป็นสัดเป็นส่วนแยกชายและหญิง – การจัดบริการท่องเที่ยววิถีอิสลามแก่ชาวมุสลิมนั้น ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวควรคำนึงถึงพื้นที่ส่วนตัวที่แบ่งแยกชายหญิงชัดเจน เช่น ห้องออกกำลังกาย สปาก็ควรแยกพื้นที่ชายและหญิงออกจากัน หรือหากจำเป็นก็ใช้สถานที่เดียวกันแต่ให้จัดสรรเวลาแยกกัน
- เมนู ฮาลาลรูท – เป็นแผนที่นำทางที่แสดงตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้ และสถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ เช่น มัสยิด ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น โดยระบบจะเชื่อมโยงกับ Google Map และสามารถแสดงเส้นทางเพื่อนำทางผู้ใช้แอปไปสู่จุดหมายปลายทาง
- เมนู ร้านอาหาร – เป็นเมนูที่รวบรวมร้านอาหารฮาลาล พร้อมแบ่งประเภทร้านอาหาร เช่น อาหารไทย อาหารอีสาน ก๋วยเตี๋ยว และสตรีทฟู้ด เป็นต้น เมื่อผู้ใช้งานกดเลือกร้านอาหารฮาลาลที่ต้องการ ระบบจะแสดงรายละเอียดของร้านอาหาร เช่น ประเภทอาหาร เมนูขึ้นชื่อ จำนวนที่นั่ง ที่อยู่ เบอร์โทรร้าน เป็นต้น พร้อมเชื่อมต่อแผนที่ใน Google Map เพื่อนำทางไปยังร้านอาหารแห่งนั้น ๆ
- เมนู โรงแรมที่พัก – เป็นเมนูที่รวบรวมข้อมูลของโรงแรมที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมในประเทศไทยไทย โดยจะมีรายละเอียดของชื่อ-ที่อยู่โรงแรม สิ่งอำนวยความสะดวก (ห้องละหมาด อาหารฮาลาล) พร้อมเชื่อมโยงแผนที่ของ Google Map เพื่อนำทางผู้ใช้งานไปยังโรงแรมได้
- เมนูมัสยิด – เป็นแผนที่ที่สามารถแสดงตำแหน่งของมัสยิดที่อยู่ใกล้ตำแหน่งของผู้ใช้งาน อีกทั้งยังสามารถปักหมุดเลือกพื้นที่ที่จะไปเพื่อค้นหามัสยิดในพื้นที่นั้นได้ด้วย ซึ่งแอปพลิเคชันจะแสดงแผนที่นำทางไปยังมัสยิดนั้นผ่านระบบของ Google Map
- เมนูทิศละหมาด – เป็นเข็มทิศ สำหรับค้นหาทิศละหมาด นอกจากนี้หากต้องการคำนวณพิกัดพื้นที่ เวลาละหมาด ผู้ใช้งานสามารถปักหมุดสถานที่และค้นหาทิศละหมาดได้
- เมนูเวลาละหมาด – เป็นเมนูที่เชื่อมโยงทั้งสถานที่-วัน-เวลาละหมาด เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งสามารถดูได้ทั้งแบบเฉพาะเจาะจงวัน และแบบรายเดือนได้
- เมนู ปฏิทินอิสลาม – เป็นการแสดงปฏิทิน ฮิจเราะห์ศักราช ที่แสดงถึงวันสำคัญ ของศาสนาอิสลาม
- เมนู HAL-Q – เป็นเมนูที่รวบรวมข้อมูลร้านอาหารที่มีศักยภาพในการพัฒนาในด้านคุณภาพของสถานประกอบการ ต่อยอดในด้านระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้าสู่ระบบฐานข้อมูล จะพัฒนาไปถึงระบบ HALAL Blockchain ในอนาคต
- Route 1 เส้นทางภาคใต้ (อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา – กรุงเทพมหานคร) ผ่าน 12 จังหวัด (ไม่รวมภาคใต้อันดามัน) ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
- Route 2 เส้นทางภาคเหนือ (กรุงเทพมหานคร – อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย) ผ่าน 16 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย กำแพงเพชร ตาก พะเยา เชียงราย
- Route 3 ภาคอีสาน 5 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย
- Route 4 ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด
- Route 5 ภาคใต้อันดามัน 5 จังหวัด ได้แก่ ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง
- Route 6 ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส