กองวัณโรค กรมควบคุมโรค เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้เรื่องความรุนแรงของการติดเชื้อวัณโรคในไทยและทั่วโลก พร้อมเน้นย้ำการตรวจคัดกรองเชื้อในวงกว้างเป็นหนทางสู่การบรรลุเป้าหมายการยุติวัณโรคของประเทศไทย ล่าสุด กองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดย พญ.ผลิน กมลวัทน์ แพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ที่ปรึกษากองวัณโรค อดีตผู้อำนวยการกองวัณโรค และวันนี้ท่านเป็นตัวแทนผู้อำนวยการกองวัณโรค (นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง) เผยสถิติอันน่าเป็นห่วงของการติดเชื้อวัณโรคในประเทศไทย ร่วมส่งเสริมให้สังคมไทยเห็นภาพรวมสถานการณ์ล่าสุด พร้อมกระตุ้นให้เกิดการตรวจคัดกรองในวงกว้าง ชี้วัณโรคเป็นภัยสุขภาพร้ายแรงที่มีความท้าทายในการควบคุม เนื่องจากผู้ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดสู่คนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว ย้ำแผนการตรวจคัดกรองเชื้อเชิงรุกระยะยาว เป็นกลไกสำคัญในการต่อสู้วัณโรค
พญ.ผลิน กมลวัทน์ แพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ที่ปรึกษากองวัณโรค เล่าถึงสถานการณ์วัณโรคล่าสุดในไทยว่า “ไทยมีผู้ป่วยวัณโรค 155 คนต่อประชากรแสนคน เทียบกับญี่ปุ่นที่จริงจังเรื่องการต่อสู้กับวัณโรค ปัจจุบันญี่ปุ่นจึงเหลือผู้ป่วยเพียง 8 คนต่อประชากรแสนคน เราคาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ในไทยปีละกว่า 111,000 คน แต่ที่ตรวจพบเชื้อมี 72,000 คน คิดเป็น 65% อีกราว 35% หรือกว่า 40,000 คน ไม่ได้เป็นผู้ป่วยในระบบ ทำให้มีความเสี่ยงสูงในการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ส่วนอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 12,000-14,000 คนต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 40 คนต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรคราว 10.6 ล้านคน และเสียชีวิตปีละ 1.3 ล้านคน โดยประเทศไทยมีแผนการยุติวัณโรค ซึ่งเป้าหมายคือการควบคุมตัวเลขผู้ป่วยให้เหลือต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2578 แต่ปัจจุบันสถานการณ์ถือว่ายังน่ากังวลอยู่มาก”
ในประเทศไทย อุปสรรคในการต่อสู้กับวัณโรคนั้นมีหลายประการ “จริง ๆ วัณโรคไม่เคยหายไปจากไทย และเราจำเป็นต้องรณรงค์เรื่องการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพราะความท้าทายคือ โรคนี้ใช้เวลาฟักตัวนานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป หรือบางรายอาจนานถึง 5-10 ปี หลาย ๆ คนไม่แสดงอาการ การใช้เครื่องเอกซเรย์ปอดดูความผิดปกติเป็นสิ่งจำเป็นในการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยให้เจอและรักษาให้หาย คือหัวใจของการต่อสู้กับโรคนี้ โดยเมื่อพบความผิดปกติที่ปอด จะส่งต่อไปตรวจเสมหะเพื่อยืนยันผลการติดเชื้อทันที จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการรับประทานยาทุกวันจนครบ 6-8 เดือนก็สามารถหายจากโรคได้ ซึ่งจริง ๆ หากทำให้การออกตรวจคัดกรองเป็นวาระสำคัญแห่งชาติในระยะยาว เราจะเจอผู้ป่วยได้อีกมาก ก็จะช่วยให้ขยับใกล้เป้าหมายการยุติวัณโรคมากขึ้น” พญ.ผลินกมลวัทน์ อธิบาย
ปัจจุบัน มีนวัตกรรมที่ช่วยในการคัดกรองผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ คือเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบพกพาขนาดเล็กพร้อมระบบประมวลผล AI ทีมแพทย์สามารถพกไปออกตรวจในชุมชนได้ ใช้เวลาตรวจรวดเร็วเพียง 1 นาที มีความแม่นยำเหมือนกับเครื่องเอกซเรย์ตัวใหญ่ในโรงพยาบาล โดย พญ.ผลิน กมลวัทน์ กล่าวว่า “เมื่อเครื่องตรวจพบรอยโรคจะส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ทราบ ก็จะได้นำคนไข้ไปตรวจเสมหะ และเมื่อพบโรคก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไปได้ หากมีการใช้เครื่องเอกซเรย์พกพาในพื้นที่เสี่ยง ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองได้เป็นอย่างดี ซึ่งล่าสุดกองวัณโรคได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก (Global Fund) ในการต่อสู้กับวัณโรค จึงได้จัดซื้อเครื่องเอกซ์เรย์แบบพกพาทั้งสิ้น 16 เครื่อง และได้ส่งมอบให้แก่หลายโรงพยาบาลเพื่อใช้การคัดกรองวัณโรคเรียบร้อยแล้ว”
มร.โซ มารูโอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ฟูจิฟิล์ม ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการยุติการแพร่ระบาดของวัณโรค และได้ร่วมทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ ในประเทศไทยและทั่วโลกเพื่อนำเสนอนวัตกรรมเครื่องเอกซเรย์แบบพกพาเพื่อใช้ในการตรวจคัดกรองวัณโรคได้อย่างสะดวก แม่นยำ รวดเร็ว โดยเป้าหมายหลักของเราคือการยกระดับด้านการแพทย์และสุขภาพให้สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในการยุติวัณโรคภายในปี ค.ศ. 2030 เราจึงเร่งเดินหน้าต่อสู้กับวัณโรค โดยมุ่งเน้นที่การตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ ผ่านนวัตกรรมอันล้ำสมัยของเรา”
“ปีนี้และต่อไปในอนาคต ทุกภาคส่วนยังต้องเดินหน้าช่วยกันรณรงค์เรื่องความสำคัญของการตรวจคัดกรองวัณโรคในเมืองไทยต่อไป ตอนนี้เรามีนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาช่วยคัดกรอง ช่วยให้พบผู้ป่วยวัณโรคได้รวดเร็วเพื่อมอบการรักษาอย่างทันท่วงที หากเราเร่งตรวจคัดกรองต่อเนื่องเช่นนี้ ในปี พ.ศ. 2578 ก็มีความหวังว่าประเทศไทยจะคว้าชัยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยุติวัณโรคได้จริง ๆ” พญ.ผลิน กมลวัทน์ กล่าวย้ำทิ้งท้าย