เงินลงทุนดังกล่าวจะเพิ่มศักยภาพซัพพลายเชนของไทยในการนำพลาสติกบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (flexible packaging) เข้าสู่ระบบหมุนเวียน หลังจากบริษัท ยูเนี่ยน เจ. พลัส (ไทยแลนด์) เข้าซื้อกิจการโรงงานรีไซเคิลพลาสติก LDPE พร้อมเดินหน้าขยายกำลังการผลิตเต็มสูบ
เซอคิวเลท แคปปิตอล (Circulate Capital) บริษัทจัดการการลงทุนชั้นนำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ลงทุนในตลาดที่มีการเติบโตสูง ประกาศการลงทุนเชิงกลยุทธ์ครั้งใหม่ในบริษัท ยูเนี่ยน เจ. พลัส (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกกลุ่มโพลิโอเลฟินส์ (PP, HDPE, LDPE) มายาวนานกว่า 20 ปี เงินลงทุนใหม่นี้จะช่วยให้ยูเนี่ยน เจ. พลัส สามารถเพิ่มศักยภาพการดำเนินงาน พร้อมทั้งขยายธุรกิจด้วยการเติบโตจากภายในองค์กร และการควบรวมกิจการ โดยล่าสุด ยูเนี่ยน เจ. พลัส เข้าซื้อกิจการโรงงานรีไซเคิลโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE) ที่มีกำลังการผลิต 18,000 ตันต่อปี ในเขตนิคมอุตสหกรรม จังหวัดสมุทรปราการ
เงินลงทุนของเซอคิวเลท แคปปิตอล จะช่วยให้ บริษัท ยูเนี่ยน เจ. พลัส สามารถขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเสริมความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชน เมื่อดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าความสามารถในการรีไซเคิลรวมจะมากกว่า 30,000 ตันต่อปี ซึ่งรวมถึงการรีไซเคิลพลาสติกกลุ่ม PP, HDPE, LDPE เกรดพรีเมี่ยมและเกรดอาหารจำนวนกว่า 20,000 ตันต่อปี
บริษัท ยูเนี่ยน เจ. พลัส เป็นหนึ่งในธุรกิจรีไซเคิลเพียงไม่กี่แห่งที่มีเจ้าของและทีมผู้บริหารเป็นผู้หญิง ภายใต้การนำทัพโดยคุณกุลนาถ สิริผาติ และ คุณชุติกาญจน์ ฉายศิริไพบูลย์ ด้วยประสบการณ์ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลมากว่า 20 ปี ความรู้ความเข้าใจเชิงลึกของตลาด และความเชี่ยวชาญทางเทคนิค การพัฒนาครั้งนี้จะทำให้บริษัทก้าวขึ้นเป็นบริษัทรีไซเคิลพลาสติกประเภท PP, HDPE, LDPE ชั้นนำของประเทศ ทั้งนี้ศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของการเก็บรวบรวมและรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศให้ได้จำนวนมาก ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศอีกด้วย
การลงทุนเชิงกลยุทธ์ของเซอคิวเลท แคปปิตอล ครั้งนี้ เป็นการลงทุนครั้งแรกในประเทศไทย โดยเป็นการขยายพอร์ตการลงทุนในกลุ่มธุรกิจรีไซเคิล ซึ่งปัจจุบันนับว่าพอร์ตโฟลิโอดังกล่าวเมื่อเทียบกับพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มพลาสติกรีไซเคิลอื่น ๆ แล้ว มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการสร้างซัพพลายเชนในท้องถิ่นสำหรับพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง
ประเทศไทยสร้างขยะพลาสติกประมาณสองล้านตันต่อปี และมีเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้นที่ถูกนำกลับมารีไซเคิล จากการวิจัยคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสูญเสียเงินถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เมื่อพลาสติกถูกทิ้งแทนที่จะรีไซเคิลหมุนเวียนกลับมาเป็นวัสดุที่มีมูลค่า ซึ่งจะเห็นได้ว่า การนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับภาคเอกชนของไทย ได้ถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
คุณกุลนาถ สิริผาติ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ยูเนี่ยน เจ. พลัส กล่าวว่า “ในฐานะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศไทย เรามีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาและต่อยอดให้เกิดการหมุนเวียนของพลาสติก รวมถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต การสนับสนุนของเซอคิวเลท แคปปิตอล มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมุ่งมั่นนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการรีไซเคิลของไทย”
กองทุนภายใต้การบริหารของเซอคิวเลท แคปปิตอล นับเป็นกองทุนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนกองทุนแรกในเอเชียที่ได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์ระดับโลกอาทิ เป๊ปซี่โค, พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล, ดาว เคมิคอล, ดานอน, ชาเนล, ยูนิลีเวอร์, โคคา-โคลา, เชฟรอน ฟิลลิปส์ เคมิคอล และ มอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทยูเนี่ยน เจ. พลัส สามารถเข้าถึงซัพพลายเชนระดับโลก รวมถึงการวิจัย การพัฒนา และความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคของบริษัทชั้นนำได้อีกด้วย
“เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในตลาดที่มีการเติบโตสูงในภูมิภาค โดยผลักดันให้เกิดการเข้าถึงซัพพลายเชนผ่านการลงทุนของเรา เราภูมิใจที่ได้สนับสนุนบริษัทยูเนี่ยน เจ. พลัส ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนการรีไซเคิลของประเทศไทยด้วยการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการเติบโตของ บริษัทยูเนี่ยน เจ. พลัส” กล่าวโดย คุณโรเบิร์ต คาเพน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเซอคิวเลท แคปปิตอล “ด้วยทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่งซึ่งนำโดยผู้หญิง ประกอบกับประสบการณ์อันยาวนานของทีมผู้บริหาร เราเชื่อว่าบริษัท ยูเนี่ยน เจ. พลัส จะขยายกำลังการผลิต เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงโอกาสทางการตลาดที่กำลังเติบโตของพลาสติกรีไซเคิลทั่วโลก และเข้าถึงความต้องการของสังคมและสิ่งแวดล้อมสำหรับเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน พร้อมทั้งสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกและผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้”