HUAWEI เร่งผลักดันบุคลากรดิจิทัลหญิง ตามภารกิจ Women in Tech รับตลาดเทคโนโลยีในประเทศไทย


ในทศวรรษถัดไป หลายคนกล่าวว่าเทคโนโลยีไอซีทีจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพลิกโฉมเศรษฐกิจดิจิทัลและวงการแรงงาน ทุกที่ทั่วโลกต่างมีความต้องการบุคลากรดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่สิ้นสุดลง ในขณะที่ประเทศไทยวางเป้าหมายไว้ว่าจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียนในไม่ช้า ทำให้ประเทศต้องการบุคลากรดิจิทัลเป็นจำนวนมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างมีความเท่าเทียมและยั่งยืน หนึ่งในแนวทางการเพิ่มจำนวนบุคลากรไอซีทีในประเทศไทยได้อย่างมีนัยสำคัญคือ การเร่งสนับสนุนทั้งเยาวชนหญิงและผู้หญิงในบ้านเราให้มีบทบาทมากขึ้นในวงการเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกอย่าง “หัวเว่ย” ที่ต้องการจะฟูมฟักบุคลากรไอซีทีไทยไปพร้อมกับการสนับสนุนบุคลากรหญิง ด้วยการฝึกอบรมทักษะและความสนใจด้านไอซีทีในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนภารกิจ “เทคโนโลยีสำหรับผู้หญิง โดยผู้หญิง จากผู้หญิง (Tech for Her, Tech by Her, and Tech with Her)” ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก


เพื่อตอบรับเทรนด์ด้านบุคลากรดิจิทัลหญิงที่กำลังมาแรงในขณะนี้ นางปิยะธิดา อิทธิระวิวงศ์ ประธานบริหารกลุ่มธุรกิจคลาวด์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงจุดยืนของหัวเว่ยด้านการสนับสนุนบุคลากรดังกล่าวว่า “หัวเว่ยให้ความสำคัญด้านความเสมอภาค โดยในอดีตที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่าวงการไอทีเป็นวงการที่มีบุคลากรชายเป็นหลัก แต่ปัจจุบัน มีผู้หญิงเข้ามาทำงานในวงการนี้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่ตนเองเข้ามารับผิดชอบธุรกิจเทคโนโลยีคลาวด์ของหัวเว่ย ซึ่งขอตอกย้ำว่าหัวเว่ยพร้อมสนับสนุนโอกาสให้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม ตราบใดที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ที่ใช่ ก็มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาในตำแหน่งระดับผู้บริหารที่ต้องนำทีมได้”


คุณปิยะธิดา ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มีบุคลากรหญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง (C-level) ทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 27% และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก APAC อยู่ที่ประมาณ 26% อย่างไรก็ตาม ในตลาดประเทศไทย สัดส่วนบุคลากรหญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงกลับมากถึง 32% ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวนี้ยิ่งทำให้หัวเว่ยตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนผู้หญิงไทยในอุตสาหกรรมไอซีทีผ่านโครงการต่าง ๆ ในสามเสาหลัก ได้แก่ “เทคโนโลยีสำหรับผู้หญิง โดยผู้หญิง จากผู้หญิง (Tech for Her, Tech by Her, and Tech with Her)” ตอบโจทย์เป้าหมายของหัวเว่ยที่ต้องการเปิดกว้างโอกาสและแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้


หัวเว่ยยังเดินหน้าผลักดันด้วยการยกระดับเทคโนโลยีไอซีทีใหม่ ๆ เช่น 5G เครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบใยแก้วนำแสง (FTTX) หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย (FWA) เพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อให้แก่ผู้หญิงที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีไร้สาย 5G แบบ CPE เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้งานช่องทางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงที่เข้าถึงง่ายในพื้นที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานที่บ้านหรือในมหาวิทยาลัยก็ตาม



นอกจากนี้ นส. ทิพรดา ทิพยบุญทอง ฝ่ายบุคคลด้านพันธมิตรทางธุรกิจ และ แอมบาสเดอร์ของหัวเว่ย ประเทศไทย ยังได้กล่าวเสริมถึงจุดยืนของหัวเว่ยว่า “นโยบายฝ่ายบุคคลของหัวเว่ยให้ความสำคัญกับผลงานของพนักงานแต่ละคนในการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย ซึ่งปัจจุบันหัวเว่ยมีผู้บริหารหญิงในองค์กรมากขึ้นตามภารกิจ Empowering Woman Power มีบุคลากรหญิงที่ทำผลงานอย่างยอดเยี่ยมในระดับหัวหน้า นอกจากนี้ เรายังมีสวัสดิการและสิทธิพิเศษสำหรับบุคลากรหญิง (Employee Care) จัดกิจกรรมในวันสำคัญเกี่ยวกับผู้หญิง และสุดท้ายคือเรายังขยายโอกาสด้านดิจิทัล (Digital Opportunity) ทั้งการรับนิสิตนักศึกษาฝึกงานทั้งหญิงและชายสำหรับโครงการ Seeds for the Future ซึ่งในปีนี้เราจะเปิดรับสายการตลาดและสายภาษาเพิ่มขึ้นด้วย เราหวังว่าจะได้ช่วยเตรียมตัวน้อง ๆ สำหรับการทำอาชีพด้านดิจิทัลในอนาคต”


ปัจจุบันทั่วโลกและสังคมไทยมีความเปิดกว้างมากขึ้น ความสามารถของคนก็พัฒนาขึ้น และเด็กรุ่นใหม่ก็เก่งขึ้น หัวเว่ยคาดหวังว่าจะสามารถเฟ้นหาบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาร่วมงานกับองค์กรได้เพิ่มขึ้น เพราะยุคดิจิทัลจะสร้างโอกาสให้กับทุกคนไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพศไหนก็ตาม


จากข้อมูลสถิติของธนาคารโลก จำนวนผู้หญิงทั่วโลกที่อยู่ในอุตสาหกรรมซึ่งเกี่ยวกับทั่วโลกมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 จากบุคลากรทั้งหมด แต่ในประเทศไทย เรามีบุคลากรหญิงในสาขานี้ถึง 50%



ตัวแทนจากยูเนสโก นางมนทกานติ์ สุวรรณทรรภ กิตติไพศาลศิลป์ เจ้าหน้าที่บริหารแผนงานด้านวัฒนธรรม องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ มองว่าการผลักดันบุคลากรหญิงให้ศึกษาในสาขา STEM มีความสำคัญต่อความเสมอภาคทางเพศในวงการไอซีที โดยเธอกล่าวว่า “ยูเนสโกมองว่าผู้หญิงไทยมีโอกาสค่อนข้างสูงในวงการเทคโนโลยี เพราะอยู่ในระบบนิเวศที่อาจจะดีกว่าหลายประเทศ ซึ่งทางยูเนสโกเองก็มีพันธกิจที่จะสนับสนุนในสาขา STEM ทั้งในด้านการศึกษา ด้านศาสตร์วิทยาการ และด้านวัฒนธรรม ผ่านการฝึกอบรมบุคลากรครู โดยเฉพาะศาสตร์ของการใช้เทคโนโลยีเรื่อง AI ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ค่อนข้างใหม่มาก”  


ก่อนหน้านี้ หัวเว่ยได้จับมือกับพาร์ทเนอร์สำคัญหลายรายในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และองค์การยูเนสโก (UNESCO) เพื่อช่วยบ่มเพาะบุคลากรหญิงในวงการไอซีทีไทยผ่านโครงการรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่โครงการ ‘Girls in ICT Day’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลักดันให้เยาวชนสตรีในประเทศไทยได้ยกระดับทักษะดิจิทัลผ่านการฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุ่งเน้นความด้านเทคโนโลยี 5G ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และคลาวด์ โครงการจัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านไอซีทีในหัวข้อการพัฒนาโครงข่าย 5G การพัฒนาระบบคลาวด์ การลงมือปฏิบัติจริง รวมถึงการเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมและนิทรรศการต่าง ๆ ของหัวเว่ย


นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้จัดโครงการโร้ดโชว์ “Women in Tech” ซึ่งได้รับการจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจจากผู้หญิงต้นแบบและผู้นำหญิงในสายไอที รวมทั้งกิจกรรม Tech Talk จากวิทยากร และบูธจัดแสดงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ผู้ที่สนใจภายในงานได้รับชม และในปีนี้ หัวเว่ยยังได้เปิดโครงการใหม่เพื่อบ่มเพาะบุคลากรดิจิทัลไทยด้านคลาวด์จำนวนกว่า 20,000 คนและด้านพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานดิจิทัล 10,000 คน ภายในระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้จัดแพลตฟอร์มฝึกอบรมและอีเวนท์ต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีและนักเรียนที่มีความสนใจเทคโนโลยีคลาวด์ โดยมีตั้งแต่คอร์สระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญ ทั้งการฝึกอบรมแบบออนไลน์ แบบลงพื้นที่ แบบห้องแล็บปฏิบัติการ โครงการแข่งขันแฮกกาธอร์น เป็นต้น โดยผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://developer.huaweicloud.com/intl/en-us/forum/topic/0206123266063716004

ใหม่กว่า เก่ากว่า