ที่งานฟิวเจอร์เน็ต เวิลด์ (FutureNet World) ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 3-4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผลงานจากความร่วมมือระหว่างไชน่า โมบาย (China Mobile) กับหัวเว่ย (Huawei) อย่าง “โซลูชันดิจิทัลทวินสำหรับเครือข่ายอัตโนมัติ” (Digital Twin Solutions for Autonomous Networks) คว้ารางวัลดิ โอเปอเรเตอร์ อวอร์ด (The Operator Award) มาได้สำเร็จ ซึ่งเป็นรางวัลที่ฟิวเจอร์เน็ต เวิลด์ มอบให้เพื่อยกย่องผู้ให้บริการที่มีผลงานโดดเด่น
ฟิวเจอร์เน็ต เวิลด์ เป็นการประชุมชั้นนำระดับโลกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีเป้าหมายเพื่อกำหนดทิศทางความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต โดยเน้นที่ระบบเครือข่ายอัตโนมัติและระบบอัจฉริยะ โครงการของไชน่า โมบาย ได้รับรางวัลดังกล่าวเป็นครั้งแรก หลังจากที่ถูกนักวิเคราะห์ชื่อดังจากองค์กรอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตรวจสอบอย่างพิถีพิถันและเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นออมเดีย (Omdia), ทีเอ็ม ฟอรัม (TM Forum), เอบีไอ รีเสิร์ช (ABI Research) และแอปเปิลดอร์ รีเสิร์ช (Appledore Research)
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไชน่า โมบาย และหัวเว่ย ได้ร่วมกันสำรวจโอกาสในการพัฒนาเครือข่ายอัตโนมัติ (AN) ระดับสูง ตามแนวคิดดิจิทัลทวิน (digital twin) และได้นำแนวปฏิบัตินำร่องต่าง ๆ มาใช้ จนประสบผลสำเร็จมาหลายต่อหลายครั้งในเรื่องนวัตกรรม
- เครือข่ายพลังประมวลผล (CFN) โซลูชันทั่วไปค้นหาทรัพยากรประมวลผลที่เพียงพอและเครือข่ายที่เหมาะสมที่สุดในเวลาเดียวกันไม่ได้ เพื่อจัดการกับปัญหาท้าทายนี้ ไชน่า โมบาย และหัวเว่ย จึงนำแผนที่ความสามารถในการขนส่งแบบ OTN มาใช้ในมณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน รวมถึงกวางตุ้ง โซลูชันอันล้ำหน้านี้แสดงภาพเครือข่ายและโทโพโลยีการประมวลผลแบบรวม เปิดโอกาสให้ประเมินความสามารถในการขนส่งได้ทางออนไลน์ และแนะนำเครือข่ายที่เหมาะสมที่สุดได้ด้วยโหนดคอมพิวเตอร์ที่มีทรัพยากรประมวลผลเพียงพอ นอกจากนี้ ยังมีการใช้อินเทอร์เฟซมาตรฐานแบบสื่อสารด้านบน (northbound) เพื่อให้ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและให้บริการได้อย่างคล่องตัว ทั้งหมดนี้ช่วยลดระยะเวลาในการให้บริการลงได้อย่างมาก จากหลักวันเหลือเพียง 30 นาที ขณะเดียวกันก็เพิ่มการใช้ทรัพยากรประมวลผลได้ถึง 17%
- การทำสวิตช์โอเวอร์เพื่อกู้คืนข้อมูลเมื่อเกิดภัยพิบัติ (DR) ของเครือข่ายหลักบนคลาวด์ โซลูชันที่ใช้อยู่เดิมนั้นอาศัยการดำเนินการเองค่อนข้างมาก ส่งผลให้ใช้เวลาประเมินเพื่อกู้คืนข้อมูลนานขึ้น นอกจากนี้ โซลูชันเหล่านี้ยังขาดความสามารถในการแสดงภาพกระบวนการกู้คืนข้อมูลให้เข้าใจได้ง่าย เพื่อเอาชนะข้อจำกัดเหล่านี้ ไชน่า โมบาย และหัวเว่ย ได้ร่วมกันนำเทคโนโลยีช่วยกู้คืนข้อมูลอัจฉริยะมาใช้ในมณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน รวมถึงเจ้อเจียงและเหอหนาน เพื่อจำลองและประเมินการกู้คืนข้อมูลอัตโนมัติโดยใช้เครือข่ายดิจิทัลทวิน เทคโนโลยีเหล่านี้ลดเวลาในการประเมินลงได้อย่างมาก จากหนึ่งสัปดาห์เหลือเพียง 10 นาที ทั้งยังแสดงภาพกระบวนการกู้คืนข้อมูลทั้งหมดได้อย่างครอบคลุม ซึ่งช่วยรองรับการดำเนินการอัตโนมัติ ไชน่า โมบาย นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ฝึกกู้คืนข้อมูลจนประสบความสำเร็จกว่า 10 ครั้ง ครอบคลุมผู้ใช้หลายล้านคน
ไชน่า โมบาย ยังคงมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับหัวเว่ย โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการนำแนวปฏิบัติด้านเครือข่ายอัตโนมัติที่มีความแปลกใหม่มาใช้ พร้อมสำรวจขีดความสามารถใหม่ ๆ ของเครือข่ายอัตโนมัติระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นการจำลองบริการ การฝึกอบรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) การจำลองความปลอดภัย และการเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย โดยใช้ประโยชน์จากพลังของดิจิทัลทวินและขับเคลื่อนวิวัฒนาการไปสู่เครือข่ายอัตโนมัติ L4 ภายในปี 2568 เสริมศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ และกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของเศรษฐกิจและสังคม