Little Hotelier เผยเทรนด์การจองที่พักขนาดเล็กของไทยสำหรับปี 2023



Little Hotelier ระบบบริหารจัดการที่พักแบบครบวงจรสำหรับธุรกิจที่พักขนาดเล็กพร้อมรางวัลการันตีคุณภาพ ได้เผยข้อมูลใหม่จากการวิเคราะห์การจองกว่า 100 ล้านรายการที่ดำเนินการในปี 2565 โดย SiteMinder ซึ่งเป็นผู้นำแพลตฟอร์มระดับโลกด้านโฮเทลคอมเมิร์ซ ที่เข้ามาช่วยให้ Little Hotelierสามารถจัดการการจองให้ลูกค้าทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ข้อมูลที่น่าสนใจเผยถึงสุดยอด 12 อันดับช่องทางที่สร้างยอดการจองสูงสุดให้กับธุรกิจที่พักของไทยในปีที่ผ่านมา รวมถึงข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจในปีนี้ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่เป็นการเผยแพร่สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะการเผยถึงพฤติกรรมการจองที่เปลี่ยนไปของผู้ที่มองหาที่พักในประเทศไทย


สุดยอด 12 อันดับช่องทางจองที่พักของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการจองที่พักของนักท่องเที่ยวในประเทศ รวมไปถึงความสำเร็จในการสร้างยอดจองโดยตรงกับที่พักในช่องทางเว็บไซต์ในปี 2565


Trip.com, Goibibo & MakeMyTrip และ Luxury Escapes เป็นช่องทางการจองจากประเทศจีน อินเดีย และออสเตรเลีย ตามลำดับ โดยไต่ขึ้นมาอยู่ใน 12 อันดับแรกของสุดยอดช่องทางการจองของประเทศไทยในปี 2565 จากการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน การจองโดยตรงผ่านเว็บไซต์ของที่พักยังคงอยู่ในอันดับที่สามในประเทศไทย แม้ว่าจะถูกแซงโดยช่องทางอื่นๆ ใน 42% ของประเทศที่ได้ทำการสำรวจ


สุดยอดช่องทางการจองโรงแรม 12 อันดับแรกในปี 2565 โดยพิจารณาจากการสร้างรายได้รวม ได้แก่


1. Booking.com

2. Agoda

3. เว็บไซต์โรงแรม (จองโดยตรง)

4. Expedia Group

5. Hotelbeds

6. Trip.com

7. Goibibo & MakeMyTrip

8. Traveloka

9. WebBeds

10. Luxury Escapes

11. Fusion Holidays

12. Tiket.com


ข้อมูลที่น่าสนใจอื่น ๆ จาก Little Hotelier ได้แก่ :

  • การหลั่งไหลกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนสู่ประเทศไทย โดยสิ้นเดือนมกราคม ยอดการจองจากนักท่องเที่ยวจีนที่เข้าพักที่โรงแรมที่ใช้ระบบการจัดการของ SiteMinder และ Little Hotelier ได้เพิ่มขึ้นถึง 41% ในช่วงหกสัปดาห์นับจากกลางเดือนธันวาคม โดยที่ประเทศไทยมียอดจองจากชาวจีนสูงกว่าประเทศอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวชาวจีนให้ความสนใจมาท่องเที่ยวมากที่สุดหลังโควิด
  • ระยะเวลาระหว่างการจองโรงแรมและการเช็คอินนานมากขึ้น โดยที่ระยะเวลาในการจองเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 15 วันในปี 2564 เป็น 21 วันในปี 2565 ในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวเริ่มเชื่อมั่นในการจองและเดินทางมากขึ้น
  • ราคาห้องพักปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราเฉลี่ยรายวัน (ADR) ของที่พักในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 35% เมื่อเทียบจากปี 2565 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 24%
  • อัตราการยกเลิกลดลง แต่ยังสูงกว่าปี 2562 โดยที่มีการยกเลิกการเข้าพักเฉลี่ย 21% ในปี 2565 ลดลงจากเดิมที่ 26% ในปี 2564 แต่ยังคงสูงกว่าในปี 2562 ที่อัตรายกเลิกอยู่ที่ 15%
  • ระยะเวลาในการเข้าพักเพิ่มขึ้น โดยระยะเวลาเฉลี่ยที่นักท่องเที่ยวเข้าพักในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2.26 วันในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.98 วันในปี 2563 และ 2.07 วันในปี 2564 สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2565 ที่อยู่ที่ 1.93 วัน



คุณสุภกฤษฎิ์ แผนสมบูรณ์ ผู้จัดการ Little Hotelier ประเทศไทย กล่าวว่า “ในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความรู้กลายเป็นพลังสำคัญ การที่ผู้ให้บริการที่พักมีข้อมูลเชิงลึกถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจองของนักท่องเที่ยว จะสามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจและก้าวแซงคู่แข่งได้ในปีนี้ ซึ่งการมีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจด้านราคาและการตลาด ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่พักไทยก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ นอกจากนี้ การเรียนรู้ถึงพฤติกรรมการจองของนักท่องเที่ยวว่าเขาทำการจองที่พักอย่างไร และช่องทางไหน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีอย่างยิ่ง”

ใหม่กว่า เก่ากว่า