ระบบซัพพลายเชนยังคงป่วนต่อไป

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับเป็นห้วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับผู้ที่ทำงานในระบบซัพพลายเชน  ความสามารถในการปรับตัวจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ยังต้องพึ่งพาทีมซัพพลายเชน เพื่อให้ผ่านพ้นภาวะชะงักงันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปให้ได้  ซึ่งผมยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดของสิ่งที่จะเกิดขึันในปี 2566 


สำหรับแนวโน้ม 5 ประการที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจและผู้คนที่ทำงานด้านซัพพลายเชนในปี 2566 มีดังนี้



1. แผนการด้านซัพพลายเชนจะเกิดข้อผิดพลาดในทางปฏิบัติ

ความไม่แน่นอนและความผันผวน กอปรกับปัจจัยระดับท้องถิ่นและระดับโลกจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการด้านซัพพลายเชน  สำหรับปี 2566 นี้ ในระยะยาวอุปสงค์และอุปทานจะยังไม่ถึงระดับที่มั่นคงและยั่งยืน เนื่องจากแรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจมหภาค  การวางแผนงานด้านซัพพลายเชนยังคงสำคัญต่อธุรกิจ  อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวลกับการพยายามคาดการณ์อนาคตที่แม่นยำ แต่ต้องเน้นที่การวางแผนสำหรับสถานการณ์แบบ what-if ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจพร้อมปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ได้อย่างรวดเร็ว


2. ฤดูหนาวนี้จะแสนสาหัส


สงครามรัสเซียกับยูเครนกำลังส่งผลกระทบด้านพลังงานและอาหารทั่วโลก แต่ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาจะต้องเผชิญกับความท้าทายเป็นพิเศษ  แม้ว่าซัพพลายเชนทั่วโลกของเราจะได้รับการพัฒนาเพื่อช่วยรักษาสมดุลของสินค้าที่ล้นตลาดและขาดแคลนในภูมิภาคแล้วก็ตาม แต่ผลกระทบทั่วโลกที่เกิดจากการหยุดชะงักของอุปสงค์ อุปทาน และการขนส่งสินค้าที่ไม่คาดคิดบ่อยครั้ง จะยังคงส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ ความขาดแคลน และความกังวลใจ


3. แรงงานกลายเป็นตัวกระตุ้นสำคัญของปัญหาในระบบซัพพลายเชน


ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เกิดความคิดเกี่ยวกับ essential workers หรือคนทำงานในกิจการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันขึ้น เพื่ออธิบายถึงแรงงานบางส่วนที่ไม่สามารถทำงานได้จากระยะไกลและการขาดงานที่ทำให้การค้าพื้นฐานต้องหยุดชะงัก หรือทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้คน ซึ่งในกลุ่มนี้มีพนักงานขนส่งและคลังสินค้าหลายแสนคนทั่วโลกรวมอยู่ด้วย  โดยคนงานทั่วยุโรปได้มีการหยุดงานประท้วงเพื่อขอให้รัฐบาลเพิ่มค่าแรงแล้ว ในขณะที่สหภาพแรงงานรถไฟในสหรัฐอเมริกายังไม่ยอมรับข้อเสนอสัญญาค่าแรงฉบับใหม่ แม้ว่าการหยุดงานมีแนวโน้มว่าจะยืดเวลาออกไปแล้วก็ตาม  และขณะที่ค่าแรงในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์หลายแห่งได้เพิ่มขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้กลับถูกกลบด้วยค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองพื้นฐานทั่วโลก เช่นเดียวกับการใช้กำลังแรงงานเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานในบริษัทซัพพลายเชนต่าง ๆ ที่สำคัญ


4. ความพยายามในการแยกเศรษฐกิจออกจากจีนจะเผยให้เห็นถึงข้อบกพร่องในระบบซัพพลายเชนมากขึ้น


เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่หลายอุตสาหกรรมได้ขยายเครือข่ายซัพพลายเออร์ในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเป็นระบบไปยังนานาประเทศที่ไม่ใช่จีน เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษีศุลกากร ความขัดแย้งทางการค้า และยุทธศาสตร์ Zero-Covid ของจีน  เมื่อนายสี จิ้นผิง ยังครองอำนาจได้อย่างมั่นคงในอีก 5 ปีข้างหน้า ความเสี่ยงด้านซัพพลายเชนจากปฏิกิริยาในอนาคตของไต้หวัน การแสดงแสนยานุภาพทางเรือและทางทะเล ตลอดจนการขยายการลงทุนของจีนในประเทศโลกที่สามที่มีความมั่งคั่งทางยุทธศาสตร์จะต้องได้รับการจัดการอย่างจริงจัง  ทว่า ท่าเรือต่าง ๆ  เส้นทางการขนส่งทางบกและทางน้ำของนานาประเทศในเอเชียที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของระบบซัพพลายเชน ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์หรือผู้ให้บริการที่แข็งแกร่งทัดเทียมกับจีน  ดังนั้น เส้นทางการค้าที่พาดผ่านพื้นที่ที่ประเทศจีนมีอิทธิพลหรือควบคุมอยู่ อาจจะต้องเผชิญกับการหยุดชะงักที่ไม่คาดคิดจากมหาอำนาจโลกระดับนี้


5. การจัดการทัศนวิสัยในซัพพลายเชนจะเปลี่ยนไป


ในปีนี้ เราจะเห็นผู้ให้บริการขนส่งที่มีการจัดการทัศนวิสัยแบบเรียลไทม์ชั้นนำหลายแห่งประกาศเลิกจ้างงาน ขณะที่กิจกรรมร่วมทุนในภาคเทคโนโลยีซัพพลายเชนจะลดลงอย่างมาก  นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมกำลังพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า หลายบริษัทที่ซื้อเทคโนโลยีด้านการจัดการทัศนวิสัยระบบขนส่ง ต่างผิดหวังกับการลงทุนที่ไม่ได้ผลตอบแทนในระยะยาว เพราะการมีแต่ข้อมูลด้านการขนส่งเพียงอย่างเดียวทำให้องค์กรขาดบริบททางธุรกิจที่สำคัญ



ในขณะที่ตลาดของเทคโนโลยีด้านการจัดการทัศนวิสัยแบบเรียลไทม์เปลี่ยนจากวงจรการโฆษณา ไปสู่ความเป็นจริงที่น่ากังวลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและการเติบโตของซัพพลายเชนที่เพิ่มขึ้น เราจะได้เห็นการให้ความสำคัญกับการเริ่มใหม่ของเครือข่ายธุรกิจซัพพลายเชนและแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันที่ให้บริการครอบคลุมเชื่อมโยงเป็นองค์รวมมากขึ้น ในการจัดการทัศนวิสัยด้านการดำเนินงานของซัพพลายเชนทั้งระบบ  ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่อาจได้ประโยชน์จะมีส่วนในการตัดสินใจซื้อเทคโนโลยีด้านการจัดการทัศนวิสัยมากกว่าฝ่ายขนส่ง โดยฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง ฝ่ายการเงิน ฝ่ายวางแผนปฏิบัติการและการขาย ฝ่ายจัดการสินค้าคงคลัง และแม้แต่ผู้นำด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนจะร่วมกันพิจารณาโครงการเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถปรับขนาดได้ มีความยืดหยุ่น และคลอบคลุมระบบนิเวศซัพพลายเชนในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


ศูนย์วิจัยกรุงศรีระบุว่า ในสงครามการค้า ซัพพลายเชนที่เคยร้อยเรียงทั้งโลกเข้าด้วยกันในยุคโลกาภิวัฒน์ได้แตกแยกออกจากกัน (Decoupling) สิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยคือการรักษาสมดุลความสัมพันธ์ เพื่อรักษาโอกาสและประโยชน์ทางการค้า  นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือคำตอบที่ชัดเจนสำหรับการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติ ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดจุดหนึ่งของโลก ขนาดประชากรเกือบพันล้านคน การขยายตัวของชนชั้นกลาง รวมทั้งผู้บริโภคที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว เป็นปัจจัยที่ทำให้ชาติตะวันตกรวมทั้งจีนเองปักหมุดขยายธุรกิจมาในพื้นที่นี้อย่างเข้มข้น โดยในกลุ่มประเทศเกิดใหม่หรือ Emerging Market ก็จะมีผู้เล่นจากอาเซียนเป็นดาวเด่นอยู่หลายราย  รวมทั้งอินโดนีเซียที่เศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่า 5% และเวียดนามที่เติบโตอย่างร้อนแรงที่ระดับ 7% นอกจากนี้ยังมีประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขงอื่น ทั้งสปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชาที่กำลังซื้อของผู้บริโภคเติบโตอย่างร้อนแรงอีกด้วย


นอกจากการย้ายฐานการผลิตแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือการเจรจาการค้าเสรีโดยเฉพาะรูปแบบทวิภาคี จับคู่กันตามสะดวกและผลประโยชน์ที่ลงตัว การรวมกลุ่มทั้งหลายจะยังคงมีอยู่ เพราะทุกธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ธุรกิจที่พร้อมเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้เร็วเท่านั้นที่จะอยู่รอด ไม่มีคำตอบอื่นอีกต่อไป


บทความโดย นายเทอร์รี สมา, รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น, อินฟอร์




ใหม่กว่า เก่ากว่า