บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก (GCNT) ร่วมกันจัดงานสัมมนา “Thailand Talent Talk ครั้งที่ 4: ขับเคลื่อนแรงงานทักษะขั้นสูงในอุตสาหกรรม มุ่งสู่ประเทศไทยสังคมคาร์บอนต่ำ (Powering an Upskilled Industry Workforce towards a Low-Carbon Thailand)” ซึ่งนับเป็นการสัมมนาสุดท้ายในซีรีส์ของงานสัมมนาภายใต้หัวข้อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล โดยในงานครั้งนี้ ตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเร่งบ่มเพาะบุคลากรด้านดิจิทัลรุ่นใหม่ รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยสนับสนุน
การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี (Carbon Neutrality) 2050
อุตสาหกรรม 4.0 และโควิด-19 ได้เร่งความจำเป็นในด้านการเพิ่มศักยภาพและความพร้อมของบุคลากรในประเทศไทยเพื่อรองรับอนาคต โดยหากอ้างอิงจากข้อมูลในสมุดปกขาว “การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย (Thailand National Digital Talent Development)” ซึ่งหัวเว่ยได้พัฒนาร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ว่าหากไม่มีการเตรียมแนวทางใด ๆ ในการรองรับ ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาด้านการขาดแคลนบุคลากรถึง 500,000 คนในปี พ.ศ. 2573 โดยในช่วงที่เกิดสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 กระบวนการการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม และยังเป็นการปูทางสู่โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย
เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ หัวเว่ยและสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาภายใต้ชื่อ Thailand Talent Talk ตลอดปี พ.ศ. 2565 รวม 4 ครั้งด้วยกัน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างในการคุยถึงความท้าทายต่าง ๆ แนวทางการปฏิบัติ และเส้นทางในการบ่มเพาะในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการมุ่งสู่การเติบโตที่ยั่งยืน โดยหัวข้อของการสัมมนาครอบคลุมเรื่องความท้าทายทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงเรื่องความเท่าเทียมทางดิจิทัล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ เอสเอ็มอี และการเติบโตของสตาร์ทอัพ
ในงานสัมมนาครั้งที่ 4 นี้ ทางหัวเว่ยและพันธมิตรได้เน้นย้ำว่าเทรนด์ด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคตจะมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องรวมพลังกันเพื่อสร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัลที่เต็มไปด้วยศักยภาพด้านการเติบโต เพื่อรองรับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคต นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ และการเตรียมแพลตฟอร์มที่เหมาะสมสำหรับสถานที่ทำงานในอนาคตอย่างมีกลยุทธ์ หัวเว่ยได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งให้ความสำคัญในด้านดิจิทัลพาวเวอร์ นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการบ่มเพาะระบบนิเวศด้านดิจิทัลให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนาบุคลากรด้านไอซีทีรุ่นใหม่สำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2566 ที่กำลังจะมาถึงนี้
จากมุมมองของผู้กำหนดนโยบายในระดับมหภาค ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความท้าทายและโอกาสที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านด้านการใช้พลังงาน รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศไทยว่า "ด้วยกระแสของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความสนใจทั่วโลกมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เราก็ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่ทุกภาคส่วนต่างเร่งแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยจึงเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ประกาศแผนระดับชาติในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยตั้งเป้าภายในปี ค.ศ. 2050 ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) โดยกระทรวงพลังงานมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงองค์กรต่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกันได้ในที่สุด"
ในส่วนของความเห็นจากทางด้านสถาบันศึกษาและการวิจัย ดร. พิมพ์สุภา เกาะช้าง นักวิจัยสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า "ทัศนคติถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากหากคนในประเทศไทยเข้าใจถึงประโยชน์ที่พลังงานทางเลือกซึ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สามารถส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขา เป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศก็จะสามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ ทั้งนี้ การสื่อสารถือเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องดังกล่าว ในฐานะตัวแทนจากสถาบันการศึกษาระดับสูง เราจะมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลและจับมือเป็นพันธมิตรกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างหัวเว่ย รวมทั้งรับการสนับสนุนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยให้คนรุ่นใหม่มีทักษะที่พร้อมสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนซึ่งกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”
นอกจากมุมมองจากทางฝั่งของภาครัฐและภาคการศึกษา อุตสาหกรรมดิจิทัลก็จำเป็นต้องผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบนิเวศเต็มของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยนายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องขอบคุณความพยายามในการร่วมมือและความมุ่งมั่นของหัวเว่ยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ถือเป็นประเด็นหลักที่สภาอุตสาหกรรมต้องเผชิญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสิ่งนี้วงผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลก ต่อคนทั่วไป รวมถึงต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งทำให้เราต้องการบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ ทางสภาอุตสาหกรรมจะทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกราย มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และหัวเว่ย ประเทศไทย ในการช่วยเพิ่มทักษะและบ่มเพาะบุคลากรด้านไอซีทีให้มากขึ้น เพื่อรองรับกับอนาคตด้านดิจิทัลของประเทศ”
นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT (Global Compact Network Thailand) ยังได้แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “แนวทางการดำเนินงานและแพลตฟอร์มสำคัญซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมและคาร์บอนต่ำ ประกอบไปด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและโครงการเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นการพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงออกแบบเพื่อมุ่งสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า "BCG" หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เราต้องการผู้ที่มีความสามารถในการคิดค้นโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการอำนวยความสะดวกต่อการสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนและพลังงาน เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำที่ดีที่สุด ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลในอนาคตของประเทศ”
หัวเว่ย ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้นำในด้านโซลูชันโซลาร์และไอซีทีชั้นนำระดับโลก ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการก้าวเข้าสู่อนาคตที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม โดยที่หัวเว่ยมุ่งมั่นใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญที่มีในอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนองค์กรและภาคสังคมต่าง ๆ ให้มากขึ้น อีกทั้งยังเร่งการส่งเสริมการพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรผ่านโครงการ Huawei ASEAN Academy ซึ่งได้ฝึกอบรมบุคลากรไอซีทีไปกว่า 60,000 คน และธุรกิจเอสเอ็มอี 2,600 ราย ทั้งนี้ หัวเว่ยมองว่าเรื่องสังคมคาร์บอนต่ำจะเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนทุกคน ซึ่งทำให้เราจำเป็นต้องมีคนที่มีทักษะเฉพาะทางเพื่อตอบโจทย์ในด้านนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ หัวเว่ยมองว่าทางมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเองก็มีการออกแบบหลักสูตรให้มีความบูรณาการและมีความเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทางด้านโครงสร้างพื้นฐานก็ต้องมีความพร้อม ต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และมีเทคโนโลยีที่รองรับเช่นกัน โดยหัวเว่ยมองว่าเทคโนโลยีของหัวเว่ยจะสามารถช่วยสร้างสังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหัวเว่ยยังมีความเชี่ยวชาญในส่วนธุรกิจพลังงานดิจิทัล และมีแพลตฟอร์มที่พร้อมจะให้พาร์ทเนอร์รายอื่น ๆ เข้ามาใช้งานร่วมกันได้ เพื่อร่วมกันผลักดันการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปพร้อมกัน ทั้งนี้ นายสุธี ไตรวิวัฒนา เจ้าหน้าที่กลยุทธ์ธุรกิจพลังงานดิจิทัล บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เผยถึงกลยุทธ์และข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ในงานสัมมนาครั้งนี้ด้วย
งานสัมมนา Thailand Talent Talk เป็นงานสัมมนาซึ่งจัดขึ้น 4 ครั้ง ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2565 โดยความร่วมมือกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT ซึ่งมีหัวข้อนำเสนอครอบคลุมในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นด้านความเท่าเทียมทางดิจิทัล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และกลุ่มเอสเอ็มอี โดยงานสัมมนา Thailand Talent Talk ได้รวบรวมพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันนำเสนอแนวทางการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและค้นหาทิศทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับประเทศไทย ในการก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน
เนื่องจากหัวเว่ยได้รับการผลักดันจากพันธกิจ “เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย” มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 23 ปี ในอนาคต หัวเว่ยจะยังมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้สนับสนุนหลักในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อการเสริมสร้างประเทศไทยคาร์บอนต่ำที่มีความอัจฉริยะและเชื่อมโยงถึงกันอย่างสมบูรณ์แบบ หัวเว่ยจะมุ่งทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย ลูกค้า และพันธมิตรต่าง ๆ ต่อไป เพื่อผนึกเทคโนโลยีดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (power electronics) เข้ากับการผลิต การส่งพลังงาน และการใช้งานพลังงานไฟฟ้าต่อไป