|
เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทย ผ่านการพัฒนาและยกระดับองค์ความรู้มาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ |
นายสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด คว้ารางวัล CSO30 ASEAN Awards 2022 ซึ่งจัดขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่สอง โดยรางวัลนี้มอบให้กับผู้นำในด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ (Cybersecurity) เพียง 30 คนในภูมิภาคอาเซียน โดย CSO ถือเป็นองค์กรระดับโลกที่ให้บริการข้อมูลข่าวสาร บทวิเคราะห์ และงานวิจัยด้านความปลอดภัยและการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านการเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤตได้อย่างไร้รอยต่อ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ นายสุรชัยยังได้รับการจัดลำดับเป็นลำดับที่ 9 ของรางวัลนี้และเป็นผู้บริหารระดับสูงเพียงรายเดียวจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
นายสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเนื่องในโอกาสที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัล CSO30 ASEAN Awards 2022 ทั้งนี้ความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวถือเป็นสิ่งที่หัวเว่ยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ โดยปัจจัยที่ทำให้หัวเว่ยเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี คือการเป็นตัวแทนภาคเอกชนรายแรก ๆ ที่ริเริ่มด้านการสร้างและพัฒนาทักษะองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับบุคลากรในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว เพื่อช่วยลดปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ (Digital Divide) ในทางดิจิทัล และช่วยตอกย้ำพันธกิจของหัวเว่ยที่ต้องการ เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย สนับสนุนประเทศไทย (Grow in Thailand, Contribute to Thailand)”
นอกจากการเป็นกำลังสำคัญในโครงการต่าง ๆ ที่หัวเว่ยได้ริเริ่ม หัวเว่ยยังให้ความสำคัญในการเพิ่มทักษะให้แก่บุคลากรไอซีทีภายในประเทศ รวมถึงสร้างวัฒนธรรมและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวที่ถูกต้องให้กับพนักงานในองค์กร รวมไปถึงการส่งเสริมให้ความรู้กับบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ หัวเว่ยถือเป็นองค์กรเอกชนรายแรก ๆ ในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องการเพิ่มทักษะให้แก่บุคลากรไทย เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่องค์กรอื่น ๆ เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาบุคลากรในองค์กรและในกลุ่มประชาชนทั่วไป และยังเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกิดอีโคซิสเต็มด้านไอซีทีที่แข็งแกร่งในประเทศ เพื่อการส่งเสริมประเทศไทยสู่ยุคอัจฉริยะที่ทุกคน ทุกบ้าน ทุกองค์กร เชื่อมต่อถึงกันได้อย่างปลอดภัยและเต็มรูปแบบ
ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ มากมาย ผ่านการผสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในประเทศไทย โดยมีโครงการเรือธงที่สำคัญอย่าง Huawei ASEAN Academy ซึ่งเป็นสถาบันฝึกอบรมหลักเพื่อบ่มเพาะและเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศ และเพื่อเป็นการต่อยอดจากโครงการดังกล่าว หัวเว่ยได้ร่วมมือกับคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ในการเปิดตัวโครงการการแข่งขัน Cyber Top Talent Competition เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ รวมถึงสร้างบุคลากรเฉพาะทางให้เพียงพอกับตลาดแรงงานในประเทศ จนสามารถนำทีมตัวแทนประเทศไทยไปคว้ารางวัล Cyber SEA Game Competition 2021 ในระดับอาเซียนได้สำเร็จและเพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในระยะยาว หัวเว่ยจึงได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ สกมช. ในการจัดหลักสูตรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับบุคลากรและผู้บริหารไอซีที รวมทั้งใช้นวัตกรรมทันสมัยอย่าง Huawei e-Lab เพื่อให้บุคลากรได้ฝึกผ่านอบรมในรูปแบบเวิร์กชอปบนโครงสร้างพื้นฐานแพลตฟอร์มของหัวเว่ย โครงการทั้งหมดนี้ทำให้หัวเว่ยได้รับรางวัล มากมาย อาทิเช่น NCSA Cybersecurity Recognition Award โดย สกมช. และรางวัลดีเด่นด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ Prime Minister Award: Thailand Cybersecurity Excellence Award 2022 อีกด้วย