CTCI ช่วยผู้ผลิตชิประดับแนวหน้า TSMC ลดการใช้น้ำ ด้วยโรงงานบำบัดน้ำเสีย เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตชิป


ซีทีซีไอ ( CTCI) เครือบริษัทวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้างชั้นนำ ประกาศเริ่มดำเนินงานโรงงานบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ของทีเอสเอ็มซี (TSMC) ในนิคมวิทยาศาสตร์ไต้หวันใต้ (Southern Taiwan Science Park) ซึ่งเป็นโรงงานบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่เชิงอุตสาหกรรมที่มุ่งผลิตน้ำบำบัดแล้วสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตชิป ด้วยเทคโนโลยีบำบัดชีวภาพ ระบบกรองพิเศษ และออสโมซิสผันกลับ (reverse osmosis) โรงงานบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ของทีเอสเอ็มซีในนิคมวิทยาศาสตร์ไต้หวันใต้ เป็นโรงงานบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่แห่งแรกของอุตสาหกรรมนี้ ที่ใช้เทคโนโลยีสีเขียวเชิงนวัตกรรมในการฟื้นฟูปรับสภาพน้ำเสียจากอุตสาหกรรมและนำมาใช้ซ้ำในกระบวนการสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) ซึ่งช่วยบรรเทาความตึงเครียดด้านปริมาณน้ำสำหรับใช้งานในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิผล อีกทั้งยังเป็นการวางแบบอย่างสำหรับการรีไซเคิลทรัพยากรน้ำต่อไป


มีการจัดพิธีฉลองการเริ่มต้นการดำเนินงานในวันนี้ โดยมีประธานในพิธีคือจอห์น ที ยู ( John T. Yu) ประธานเครือซีทีซีไอ บุคคลสำคัญผู้เข้าร่วมงานนี้มีทั้งเหวยเฉอ หวง (Wei-che Huang) นายกเทศมนตรีเมืองไถหนาน และอาเธอร์ ฉวง (Arthur Chuang) รองประธานบริษัททีเอสเอ็มซี


"การใช้ประโยชน์จากน้ำบำบัดที่นำกลับมาใช้ใหม่เป็นทรัพยากรน้ำมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก" จอห์น ที ยู ประธานซีทีซีไอ กรุ๊ป กล่าวระหว่างพิธีเปิด "เรายินดีที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับทีเอสเอ็มซี ซึ่งมีพันธกิจและวิสัยทัศน์เช่นเดียวกับเราในด้านความยั่งยืนเพื่อทำให้ความฝันนั้นเป็นจริง ผมเชื่อว่าโรงงานบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่แห่งนี้ได้สร้างหมุดหมายใหม่ในแง่ของการใช้น้ำซ้ำและการลดของเสีย"



"ทีเอสเอ็มซีดำเนินการผลิตสีเขียว ดำเนินการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง และมุ่งมั่นในการขยายทรัพยากรน้ำที่หลากหลาย" ดร.อาเธอร์ ฉวง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการและโรงงานของทีเอสเอ็มซี กล่าว "โรงงานบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ของทีเอสเอ็มซีในนิคมวิทยาศาสตร์ไต้หวันใต้ เป็นหมุดหมายสำคัญในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสีเขียวระดับโลก ด้วยการร่วมมือกับซีทีซีไอ เราได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ฟื้นฟูปรับสภาพน้ำเสียจากอุตสาหกรรมให้สอดรับกับมาตรฐานด้านความสะอาดของกระบวนการเพื่อให้ใช้ซ้ำในการผลิตสารกึ่งตัวนำได้ ทีเอสเอ็มซีตั้งตารอที่จะได้ดึงดูดให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ หันมาร่วมกันสนับสนุนการใช้น้ำบำบัดเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างอนาคตที่ยั่งยืนกว่าเดิมให้เกิดขึ้น"


ซีทีซีไอได้รับมอบหมายจากบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง คอมพานี ( Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) หรือทีเอสเอ็มซี (TSMC) ให้ออกแบบ สร้าง เป็นเจ้าของ และดำเนินการโรงงานแห่งนี้ในตลอด 20 ปีข้างหน้านี้ เพื่อผลิตน้ำสะอาดให้กับธุรกิจผลิตชิปของทีเอสเอ็มซี โรงงานมีแหล่งน้ำจากน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการทำชิป ประกอบกับน้ำที่ปล่อยออกจากโรงงานบำบัดน้ำเสียในนิคมวิทยาศาสตร์แห่งนี้ ปัจจุบันโรงงานนี้ผลิตน้ำบำบัดฟื้นฟูสภาพได้ 5,000 ตันต่อวัน และจะผลิตได้มากถึง 20,000 ตันต่อวันในอีกหนึ่งปีนับจากนี้ โรงงานบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกสองแห่งของท้องถิ่น ได้แก่ หย่งคัง (Yong-Kang) และอันผิง (An-Ping) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจะร่วมกับโรงงานตั้งต้นแห่งนี้เป็นขั้น ๆ ในการผลิตน้ำบำบัดฟื้นฟูสภาพเพิ่มเติม


ถือเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมชิปที่มีการใช้น้ำปริมาณมาก ขณะที่โรงงานผลิตชิปของทีเอสเอ็มซีภายในนิคมวิทยาศาสตร์ไต้หวันใต้ ( Southern Taiwan Science Park หรือ STSP) นับแต่นี้จะเริ่มได้รับน้ำบำบัดฟื้นฟูสภาพอย่างน้อย 5,000 ตันต่อวัน และจะได้รับน้ำบำบัดฟื้นฟูสภาพ 67,000 ตันต่อวันภายในปี 2567 ซึ่งเท่ากับ 68% ของน้ำของเมืองที่ใช้โดยโรงงานผลิตของทีเอสเอ็มซีในนิคมวิทยาศาสตร์ไต้หวันใต้ในปี 2564



ซีทีซีไอซึ่งมีประสบการณ์กว้างขวางในด้านการบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรม ได้ใช้เทคโนโลยีบำบัดชีวภาพที่ก้าวหน้าในการลดปริมาณพลังงานที่ต้องใช้และลดตะกอนที่เกิดจากการบำบัดชีวภาพด้วยการเติมอากาศ ( aeration bio-treatment) แบบดั้งเดิมได้อย่างมีนัยสำคัญ ผลที่ได้คือโรงงานก่อมลพิษน้อยลง ใช้พลังงานน้อยลง และมีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น สำหรับการขยายโรงงานในอนาคต ซีทีซีไอมุ่งใช้ประโยชน์จากความร้อนที่หลงเหลือจากโรงงานผลิตพลังงานจากของเสียในบริเวณใกล้เคียง ในการทำความร้อนให้กับน้ำเสียที่เกิดจากโรงงานแห่งนี้อีกทีหนึ่ง และในการกลั่นควบแน่นและกักเก็บไอน้ำที่เกิดขึ้นเพื่อผลิตน้ำบำบัดฟื้นฟูสภาพให้ได้อีก 16,000 ตันต่อวัน


CTCI

ใหม่กว่า เก่ากว่า