ABeam Consulting แนะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เร่งปรับตัวรองรับกระแสรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกในด้านการทรานส์ฟอร์มธุรกิจและการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันได้ให้ความรู้ในงาน Future Mobility Asia 2022 ล่าสุดที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยชี้แนวทางให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยประเมินกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรองรับกระแสรถยนต์ไฟฟ้า (EV: Electric Vehicles)

ในปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV: Battery Electric Vehicles) มีการแข่งขันด้านราคามากขึ้นอันเนื่องมาจากมาตรการสร้างแรงจูงใจของรัฐบาล ทำให้ในบางกรณีรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) มีราคาไล่เลี่ยกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE: Internal Combustion Engine) คุณคริสตอฟ โทคาซ ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตบริษัทเอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ที่นำเข้ามาจากประเทศจีนนั้นมีราคาที่เทียบเท่ากับรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่ถูกผลิตและจำหน่ายภายในประเทศไทย ซึ่งนั่นหมายความว่าอุปสรรคของการเพิ่มจำนวนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ในปัจจุบันที่แท้จริงคือการขาดแคลนซัพพลาย (Supply Shortage) ไม่ใช่ราคา”

ในประเทศไทย ปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ อยู่ประมาณ 20 รุ่นในตลาด เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่มีอยู่กว่า 180 รุ่น อีกทั้งมีรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ เพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่มาจากค่ายรถยนต์หลักในตลาดยานยนต์ในประเทศไทย ซึ่งหากเราลองเปรียบเทียบกับประเทศจีนที่มีรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ให้เลือกกว่า 180 รุ่น ซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนตัวเลือกรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ในตลาดประเทศไทยได้เลย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีตัวเลือกที่น้อยกว่ามาก นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ บางรุ่นที่เปิดตัวในไทยต้องมีการชะลอการขายเนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านอุปทานและความต้องการสูงในประเทศจีน แต่จากข้อมูลของ เอบีม คอนซัลติ้ง ปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานนั้นจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และคาดว่าจะมีปริมาณการขายที่สูงขึ้นอีกมากในเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีค่ายรถยนต์ต่างๆ เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

“ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นควรเป็นสัญญาณเตือนสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะผู้ผลิตที่จัดหาส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งกำลังของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน เช่น ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ถังเชื้อเพลิง ระบบส่งกำลัง และส่วนประกอบอื่นๆ”

“ในประเทศไทย การผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นอุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐที่มีซัพพลายเออร์รถยนต์กว่า 360 ราย” คุณคริสตอฟ โทคาซ กล่าวเสริม


“สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ น่าจะนำมาซึ่งรายได้ที่สูงขึ้น เนื่องจากระบบส่งกำลังไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า และแม้ว่าต้นทุนจะมีแนวโน้มที่จะลดลง แต่ต้นทุนการผลิตก็ยังคงจะสูงกว่าระบบส่งกำลังของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปอีกหลายปี แต่ตราบใดที่ผู้บริโภคเห็นว่าการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า คุ้มค่ากว่าการเติมน้ำมัน พวกเขาคงจะยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเพื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นบริษัทต่างๆ จึงจำเป็นต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ครองตลาด” คุณคริสตอฟ โทคาซ กล่าวต่อ

เอบีม คอนซัลติ้ง สนับสนุนให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ใช้กรอบการทำงาน 5 ขั้นตอนเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ:

  • ด้านกลยุทธ์ – ประเมินว่าควรมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์และ/หรือประเทศใดและกำหนดวัตถุประสงค์ระยะยาว
  • ด้านขีดความสามารถ – พยายามประเมินถึงความสามารถใหม่ๆ ซึ่งจำเป็นต้องสร้างขึ้นมา
  • ด้านความร่วมมือ – การมองหาโอกาสในการร่วมมือกับผู้อื่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และเพิ่มเติมความสามารถที่จำเป็น
  • ด้านเงินทุน – การประเมินความต้องการเงินทุนในการดำเนินธุรกิจและทางเลือกในการระดมทุน
  • การดำเนินงานแบบ Lean และยั่งยืน – ระบุวิธีที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงมีความคุ้มค่าและทำให้การดำเนินงานมีความยั่งยืน

คุณคริสตอฟ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ไม่มีวิธีแก้ปัญหาใดที่จะเหมาะกับทุกบริษัท เนื่องจากสถานการณ์ของแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกัน แต่เราสามารถเรียนรู้จากความสำเร็จจากการดำเนินการของบริษัทยานยนต์ในตลาดอื่นๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น การกระจายความเสี่ยงด้วยการร่วมสร้างธุรกิจใหม่ (สตาร์ทอัพ) การลงทุนผ่านการควบรวมกิจการ หรือปรับปรุงการดำเนินงานโดยการเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล”

“อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงประเทศไทยด้วย และมีแนวโน้มมากขึ้นที่การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการไม่ลองเปลี่ยนแปลงอะไรเลย” คุณคริสตอฟ โทคาซ สรุป
ใหม่กว่า เก่ากว่า