นับถอยหลังสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 สมาชิกของชุมชนเอเชียแปซิฟิกต่างเริ่มกลับมาสูดอากาศหายใจได้คล่องขึ้น แม้ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงฝ่าฟันเพื่อพลิกฟื้นสู่การดำเนินงานตามปกติให้กลับมาดังช่วงก่อนเกิดโรคระบาด แต่ก็สามารถกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยรวม กำลังค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวจากผลกระทบจากโควิด-19 อย่างช้าๆ ทว่ามั่นคง
การระบาดของโควิด-19ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อการค้าและการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอย่างไม่ต้องสงสัย สะท้อนจากเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกในปัจจุบันที่กำลังต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งปัญหาด้านความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน อันเนื่องมาจากการหยุดชะงักครั้งใหญ่ของห่วงโซ่อุปทาน คำถามที่สำคัญในเวลานี้ คือ อะไรกันคือตัวแปรที่จะช่วยให้ภาคการค้าและธุรกิจ อันเป็น "เลือดเนื้อ" ของเอเชียแปซิฟิก ซึ่งหล่อเลี้ยงประชากรมากกว่า 4 พันล้านชีวิต สามารถลุกขึ้นยืนและออกวิ่งได้อีกครั้ง?
ฟังเสียงชีพจรแห่งธุรกิจและผู้คน
สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 63 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้นำของ 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือคณะทำงานที่ทำหน้าที่ในนามภาคธุรกิจของเอเชียแปซิฟิก ในการให้คำแนะนำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเพื่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและการค้าของภูมิภาคสู่ภาวะปกติอีกครั้ง โดยล่าสุดสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ในฐานะตัวแทนผู้สะท้อนความต้องการของเหล่าธุรกิจและประชาชนของภูมิภาคได้ส่งมอบข้อเสนอ 8 ประการต่อที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) เมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ด้วยความหวังว่าจะช่วยให้การค้าในภูมิภาคดำเนินไปในทิศทางทางที่ดีขึ้นในอนาคต
ในข้อเสนอดังกล่าว มี 5 ประการที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ได้แก่
(1) การสร้างความพร้อมต่อการรับมือกับการระบาดใหญ่ในอนาคต
(2) การตระหนักถึงเส้นทางสู่ข้อตกลงการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิก (FTAAP)
(3) สนับสนุนองค์การการค้าโลก (WTO)และสนับสนุนระบบการซื้อขายพหุภาคีตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด
(4) เสริมสร้างการค้าด้านบริการ
(5) การเปิดพรมแดนอีกครั้งเพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยและราบรื่น ขณะที่ 3 ประการสุดท้ายได้มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจ ได้แก่
- การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานผ่านการค้า
- การพัฒนาการกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ MSMEs ในตลาดต่างประเทศ
ในการประชุมครั้งนี้ เหล่ารัฐมนตรีการค้าเอเปคได้หารือบนข้อเสนอและประเด็นสำคัญที่สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค พยายามผลักดัน โดยภายหลังการประชุมได้มีการออกแถลงการณ์ของประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ซึ่งมีการระบุข้อเสนอจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคไว้ด้วย
ขอบฟ้าใหม่แห่งชุมชนเอเชียแปซิฟิก
แถลงการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นความสอดคล้องระหว่างคณะรัฐมนตรีการค้าเอเปคและสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ในด้านการผลักดันให้เกิดการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหรือ FTAAP โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่ให้พัฒนาแผนงานระยะหลายปี ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม และสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาค ผ่านการจัดตั้ง ‘Safe Passage Taskforce’ ซึ่งเป็นคณะทำงานชั่วคราวที่ออกแบบมาเพื่อช่วยกำหนดวิธีแก้ปัญหาในการฟื้นฟูการเชื่อมต่อในภูมิภาคผ่านการเดินทางที่ปลอดภัยและราบรื่น
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีการค้าเอเปคยังตอบสนองต่อความต้องการต่อแนวทางการปฏิบัติด้านความยั่งยืนในระดับภูมิภาคที่ดีขึ้น ซึ่งจะเอื้อต่อความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจในภูมิภาคในระยะยาว โดยส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้น คือการผลักดันให้เกิดการปรับใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green (BCG) Economy อันเป็นแนวทางสู่การฟื้นตัวทางการค้าและธุรกิจจากโควิด-19 อย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน รวมถึงการบรรลุเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างยืดหยุ่น ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม และด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การนำเสนออันบรรลุผล
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ไทย และ ประธาน APEC CEO Summit 2022กล่าวถึงผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคว่า “ในช่วงเวลาที่ราคาพลังงานและราคาอาหารสูงขึ้นนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งกระบวนการในการบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอน และกระบวนการด้านระบบอาหารที่ยั่งยืน นอกจากนี้เรายังเรียกร้องให้มีมาตรการทางการค้าที่จะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การค้าสินค้าและบริการที่ผลิตคาร์บอนต่ำ, การใช้พลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนากรอบการทำงานสำหรับการค้าและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษต่ำ”
ในด้านการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางการค้าสู่สภาวะปราศจากข้อจำกัด นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ผู้แทนสำรอง สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ไทย กล่าวว่า “เรามีความยินดีที่ปีนี้มีการให้ความสำคัญกับวาระของ FTAAP โดยระหว่างที่เราดำเนินการเพื่อบรรลุผลนี้ FTAAP จะต้องตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เอเปคควรจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการ ซึ่งจะมีความหมายอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภาคธุรกิจ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ คาดว่าเอเปคจะตกลงในการพัฒนาแผนงานหลายปีจากนี้บน 5 ความสำคัญทางธุรกิจ อันได้แก่ การทำให้เป็นดิจิทัล, การหลอมรวมเข้าด้วยกัน, ความยั่งยืน, การค้า-การลงทุน และการตอบสนองทางการค้าต่อการระบาดใหญ่”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 กล่าวว่า “ในฐานะผู้อยู่แถวหน้าในการรับมือความท้าทายจากผลกระทบของโรคระบาดและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการหยุดชะงักของตลาดและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคุกคามความมั่นคงด้านอาหาร เรามองเห็นความรับผิดชอบในการเรียกร้องให้มีการดำเนินการที่เด็ดขาดและรอบคอบ ทั้งเพื่อทำให้เกิดเครือข่ายการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคที่แข็งแกร่งและลึกซึ้งยิ่งขึ้น และศักยภาพของธุรกิจทุกขนาดที่แข็งแกร่งพร้อมที่จะเติบโตอย่างมีพลวัตและยั่งยืน...
...ด้วยความมุ่งมั่นต่อภาคธุรกิจและผู้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เราซึ่งเป็นสมาชิกของสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค จะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้นำทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยกำหนดรูปแบบการค้าและระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเพื่ออนาคตที่ดีกว่าต่อไป” ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค2022 กล่าวสรุป
สู่อนาคตที่สดใสยิ่งกว่า
สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) มีการจัดประชุมปีละ 4 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองทางธุรกิจและหารือประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อันจะนำไปสู่บทสรุปข้อเสนอที่ดีที่สุดที่จะนำเสนอต่อผู้นำเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ (APEC Meeting) โดยในปี 2565 คณะทำงานได้จัดการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง คือครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ที่สิงคโปร์ และครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายนที่แคนาดา โดยในวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2565 คณะทำงานจะรวมตัวกันเป็นครั้ง 3 ที่เวียดนาม เพื่อหารือและติดตามความคืบหน้าที่สำคัญต่อไป ทั้งนี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคครั้งที่ 4 อันเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายประจำปี ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 อีกทั้งยังเป็นเจ้าภาพงาน APEC CEO Summit 2022 ในวันที่ 16-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วย
ความคืบหน้าและการส่งมอบข้อเสนอระหว่างสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคและรัฐมนตรีการค้าเอเปคในการหารือร่วมกันครั้งล่าสุดนั้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แม้ในเส้นทางข้างหน้าจะยังคงเปี่ยมไปด้วยความซับซ้อนและความท้าทาย สิ่งสำคัญคือความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจและเครือข่ายการค้าของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเราจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและกลับสู่สภาวะปกติได้อีกครั้ง โดยกุญแจสู่ความสำเร็จดังกล่าวคือความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและสอดประสานกันอย่างครอบคลุมเพื่อการบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญต่างๆ ในวันนี้ภาครัฐและภาคเอกชนของภูมิภาคกำลังจับมือทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในก้าวที่สำคัญสู่การพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น