เปิด 5 เทรนด์เทคโนโลยีสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ของปี 2022 ชี้ Software เป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตด้านผลกำไรให้กับผู้ผลิตรถยนต์

 

ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องยนต์ โดยให้ผู้อื่นเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์แทน ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นตัวสร้างความแตกต่างในรถยนต์ และซอฟต์แวร์จะกลายปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตหลักของกำไรให้กับผู้ผลิต โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จะแปลงสภาพเป็นบริษัทเทคโนโลยีหรือบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ในที่สุด


การ์ทเนอร์ เปิด 5 แนวโน้มเทคโนโลยีสำคัญในปี 2565 ที่ผู้บริหารด้านไอทีควรพิจารณาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านของซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์


5 แนวโน้มเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ประจำปี 2565


แนวโน้มที่ 1: ผู้ผลิตรถยนต์จะทบทวนแนวทางการจัดหาชิ้นส่วน (Hardware) 

ผู้ผลิตรถยนต์กำลังพิจารณากลยุทธ์จัดเก็บสินค้าคงคลังระยะยาวที่ยึดตามหลักการจัดการสินค้าคงคลังแบบทันเวลาพอดีหรือ Just-In-Time (JIT) ซึ่งส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน (OEM) รวมถึงซัพพลายเออร์ระดับ Tier 1 ไม่มีสินค้าสำรองในช่วงภาวะการขาดแคลนชิปต่าง ๆ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องทบทวนว่าจะจัดการกับผู้ผลิตชิปอย่างไร รวมถึงการพิจารณาพัฒนาชิปของตนเอง


การ์ทเนอร์คาดว่าในปี พ.ศ. 2568 ครึ่งนึง (50%) ของ 10 บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ชั้นนำ จะผลิตชิปของตนเอง และสร้างกลยุทธ์รวมถึงความสัมพันธ์ระยะยาวร่วมกับผู้ผลิตชิปต่าง ๆ โดยตรง พร้อมยกเลิกระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (JIT)


แนวโน้มที่ 2: บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จะมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศยานยนต์

ในปี พ.ศ.2565 นี้จะเห็นบริษัทดิจิทัลยักษ์ใหญ่ อาทิ Amazon Web Services (AWS), Google, Alibaba หรือ Tencent ขยายธุรกิจในด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์อย่างต่อเนื่อง บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังนำรถยนต์เข้าไปอยู่ในระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเองมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะเปิดเป็นบริการเชื่อมต่อเทคโนโลยีเข้ากับรถยนต์ในรูปแบบใหม่ ๆ


การ์ทเนอร์คาดว่า ในปี พ.ศ.2571 70% ของยานพาหนะที่ขายออกไปจะใช้ระบบปฏิบัติการ Android ในรถยนต์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่วันนี้มีไม่ถึง 1%


เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ด้วยตนเองเป็นเรื่องยาก บริษัทรถยนต์จึงร่วมมือกับบริษัทดิจิทัลรายใหญ่เพื่อเปลี่ยนซอฟต์แวร์ให้กลายเป็นช่องทางสร้างรายได้หลัก หรือสร้างทรัพยากรภายในองค์กรจำนวนมากให้บรรลุเป้าหมายองค์กรได้ด้วยตนเอง


แนวโน้มที่ 3: โมเดลข้อมูลและความร่วมมือแบบเปิด (Open Data and Open-Source Collaboration) สร้างความสำเร็จต่อเนื่อง

เมื่อปีก่อนบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งได้สร้างระบบปฏิบัติการแบบโอเพนซอร์สและแพลตฟอร์มรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) แบบเปิด ซึ่งแนวทางนี้ได้กระตุ้นให้เกิดรูปแบบความร่วมมือใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มมากขึ้นในปีนี้


นอกจากนี้ บริษัทด้านยานยนต์ยังหันมาให้ความสำคัญกับข้อมูลในลักษณะเดียวกันกับที่โลกเทคโนโลยีมองมากยิ่งขึ้น “เป้าหมายของบริษัทไม่ใช่เพื่อขายข้อมูล แต่เพื่อนำข้อมูลมาสร้างหรือบูรณาการระบบนิเวศที่จะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลหลากหลายยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาฟีเจอร์หรือบริการดิจิทัลที่น่าสนใจยิ่งขึ้น


แนวโน้มที่ 4: ผู้ผลิตรถยนต์เพิ่มระบบอัปเดตซอฟต์แวร์แบบ Over-The-Air (OTA) เป็นช่องทางสร้างรายได้หลักบนดิจิทัล

ปีที่แล้วมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดซอฟต์แวร์สำหรับยานยนต์แบบ Over-The-Air (OTA) เมื่อผู้ผลิตหลายรายเริ่มเสนอการอัปเดตซอฟต์แวร์ในรูปแบบดังกล่าว


ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ได้อัปเดตฮาร์ดแวร์ของรถยนต์เพื่อเปิดรับการอัปเดตซอฟต์แวร์ ปัจจุบันพวกเขากำลังเริ่มเปลี่ยนไปใช้รูปแบบรายได้ที่อ้างอิงจากบริการมากกว่าการยอดขายสินค้า


นักวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2566 ครึ่งหนึ่ง (50%) ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ 10 อันดับแรกจะนำเสนอความสามารถในการปลดล็อคและอัปเกรดผ่านการอัปเดตซอฟต์แวร์ที่สามารถซื้อได้หลังการจำหน่ายรถยนต์


แนวโน้มที่ 5: ยานยนต์ไร้คนขับ กับกฎระเบียบเพิ่มเติมและอุปสรรคเชิงพาณิชย์ที่ยังไม่หายไปไหน

แม้ว่าเทคโนโลยีการตรวจจับ (Sensing Technology) จะพัฒนาดีขึ้น แต่อัลกอริธึมของการรับรู้ก็มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นตลอดจนกฎระเบียบและมาตรฐานการพัฒนาด้านต่าง ๆ ก็คืบหน้าไปเช่นกัน โดยที่ผู้พัฒนายานยนต์ไร้คนขับยังคงเผชิญความท้าทายในการขยายขอบเขตการดำเนินงานไปยังเมืองหรือพื้นที่ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง  


ผู้ผลิตรถยนต์ได้เริ่มเปิดตัวรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในระดับ 3 และกำลังดำเนินการติดตั้งใช้งานรถบรรทุกไร้คนขับในระดับ 4 รวมถึง ระบบการให้บริการรถรับส่งแบบ Taxi (หรือ Robotaxis) สำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตามการทดสอบด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีอัตโนมัตินั้นยังคงต้องใช้เวลาและรูปแบบการจำลองการขับให้มีความครอบคลุมรวมถึงการทดสอบในท้องถนนจริง ๆ นั่นทำให้การผลิตเชิงพานิชย์เป็นไปได้ช้าและมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นต่าง ๆ อาทิ การรับผิดในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและข้อพิจารณาทางสังคม เช่น วิธีการสื่อสารโต้ตอบระหว่างรถที่ขับเคลื่อนโดยมนุษย์และรถที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่กำลังเพิ่มความท้าทายให้สูงขึ้น 


ต้นทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่สูงมากในระบบ Robotaxis หรือระบบอัตโนมัติระดับ 4 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ นอกจากเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเร็วของการนำระบบอัตโนมัติมาปรับใช้ให้มีความแพร่หลายแล้ว ยังรวมถึงการส่งมอบผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) อีกด้วย ซึ่งมันดูย้อนแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากข้อดีหลักอย่างหนึ่งของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติก็คือการลดต้นทุนด้านการดำเนินงานของภาคการขนส่ง


นักวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์ คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2573 ทั่วโลกจะมีจำนวนรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเชิงพาณิชย์ (Robotaxis) ระดับ 4 เปิดให้บริการสูงกว่ารถแท็กซี่ในปัจจุบันถึง 4 เท่า


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความการ์ทเนอร์ที่ Digital Transformation Insights in Manufacturing หรือลูกค้าการ์ทเนอร์สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่รายงาน “Top 5 Automotive Technology Trends for 2022.” 

ใหม่กว่า เก่ากว่า