เมื่อโลกธุรกิจที่เราเคยคุ้นเคย ไม่ได้เป็นแบบนั้นอีกต่อไป กลยุทธ์ที่เคยใช้ตลอด 5-10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ผลเหมือนเดิม แล้วธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไร อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ งาน THAILAND NOW AND NEXT: PREPARING FOR THE CHANGING WORLD ในวันแรกได้เปิดข้อมูลเพื่อการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น เทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับโลกดิจิทัล และข้อมูลด้านการทำการตลาด ด้วยเครื่องมือดิจิทัลยุคใหม่ที่ทุกธุรกิจต้องให้ความสนใจและไม่มองข้าม
อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด (IPSOS) ได้เล่าถึงพฤติกรรมของ Gen Z ไว้ในช่วง The Future of Global Consumption Trends ว่า Gen Z มีพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้ามาก โดยมีเทรนด์น่าสนใจอยู่ 3 เทรนด์หลัก ได้แก่
- Authenticity is king หรือ การให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ถูกต้อง จริงใจจากแบรนด์ คนรุ่นใหม่กว่า 72% เลือกที่จะไว้วางใจเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่เข้าไปค้นหาข้อมูล พร้อมกับเชื่อถือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับความสนใจนั้นๆ โดยเฉพาะ ดังนั้นแบรนด์ควรสื่อสาร และทำตลาดให้มีความโปร่งใสเพื่อให้ซื้อใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ โดย 80% พร้อมที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือบริการทันที
- Data Dilemmas หรือความกังวลด้านการถูกเก็บข้อมูลออนไลน์ โดย Gen Z กังวลในเรื่องการนำข้อมูลไปใช้งาน กว่า 77% ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลของภาครัฐ แต่ก็ไม่ได้กังวลมากจนเกินไป เพราะจริงๆ แล้วต่อให้ปกป้องข้อมูลให้เป็นส่วนตัวมากแค่ไหน พวกเขาก็เชื่อว่าจะมีเทคโนโลยีบางอย่างที่สามารถเก็บข้อมูลของพวกเขาได้อยู่ดี จึงกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่พวกเขาก็คาดหวังว่า อย่างน้อยเมื่อแบรนด์เก็บข้อมูลไปแล้ว ก็ควรที่จะนำเสนออะไรที่ตอบสนองความต้องการของเขาได้บ้าง
- Tech Dimension หรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเครื่องมือในการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ โดยพบว่ากว่า 64% ของคนรุ่นใหม่ อยากที่จะเป็นคนแรกการทดลองใช้งานสิ่งใหม่ๆ และยังพบว่าการใช้เวลาของ Gen Z ส่วนใหญ่จะอยู่บนอินเทอร์เน็ต โดยเชื่อว่าโซเชียลมีเดียค่อนข้างมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลยทีเดียว
ในภาพรวมแล้วเทรนด์ทั้ง 3 จะมีความต่อเนื่องกัน ดังนั้นเมื่อแบรนด์ต้องการเสนอสินค้าหรือบริการ ไปยังกลุ่ม Gen Z ก็ต้องเรียนรู้ เข้าใจการใช้โซเชียลมีเดียของกลุ่มนี้ เพราะมีความมั่นใจ และเชื่อมั่นในผู้เขี่ยวชาญมากกว่าบรรดาอินฟลูเอนเซอร์โดยแบรนด์ควรที่จะให้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง โปร่งใส ให้พวกเขานำไปใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ และเมื่อแบรนด์ได้รับรู้แล้วว่า Gen Z มองหาอะไร ก็น่าจะเป็นโอกาสในการนำเสนอสิ่งที่ตรงกับค่านิยม ความต้องการของคนรุ่นใหม่ รวมถึงการเลือกนำเครื่องมือดิจิทัลไปใช้ในการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากเทรนด์พฤติกรรม Gen Z ที่พบว่าการใช้เวลาของ Gen Z ส่วนใหญ่จะอยู่บนอินเทอร์เน็ต โดยเชื่อว่าโซเชียลมีเดียค่อนข้างมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลยทีเดียว ดังนั้นแพลตฟอร์มที่แบรนด์ต้องมองหาคงหนีไม่พ้นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งในไทย LINE ถือเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงคนไทยได้มากที่สุดกว่า 50 ล้านคน โดย LINE ได้พัฒนาบริการและเครื่องมือต่างๆ บนแพลตฟอร์มมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน ถือเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตของคน Gen Z ได้เต็มรูปแบบ
LINE TODAY ปรับรับกลุ่มคนรุ่นใหม่
กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์และบริการ LINE ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมการเข้าถึงคอนเทนต์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ช่วงอายุต่ำกว่า 30 ปี พบว่า 5 อันดับคอนเทนต์ที่คนรุ่นใหม่นิยม ได้แก่ ข่าว ดูดวง ไลฟ์สไตล์ ข่าวการเมือง และเนื้อหาบันเทิงต่างๆ และจากข้อมูลนี้ ทำให้ LINE TODAY ได้เริ่มนำเสนอเนื้อหาที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งเพิ่มในส่วนของไลน์ดูดวง รวมถึงนำเนื้อหาจาก LINE TV ที่เป็นออริจินัลคอนเทนต์กลับมาให้รับชมบน LINE TODAY ด้วย
ที่ผ่านมา LINE TODAY ได้มีการปรับแพลตฟอร์มให้รองรับการใช้งานของกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยเน้นไปที่ 3 ด้าน ได้แก่ ด้าน ผลิตภัณฑ์ (Product) ให้เป็นมิตร ง่ายต่อการใช้งานสำหรับคนรุ่นใหม่ และมีความสนุกมากขึ้นผ่านลูกเล่นแบบ Interactive อาทิ บริการเซียมซีวัดดัง การใส่ข้อมูลเพิ่มรับผลดวงที่เฉพาะสำหรับคุณ หรือการจัดทำรูปแบบของวีดีโอฟีดที่ผู้ใช้จะเปิดรับชมได้ง่ายขึ้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ LINE TODAY รุ่นใหม่ ด้านคอนเทนต์ (Content) ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตมากขึ้น อาทิ การท่องเที่ยว อาหาร การลงทุน และเรื่องอื่นๆ ที่ตอบสนองความสนใจในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ โดยจะมีแท็บพิเศษ Young Tab เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ที่เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้ใช้งานกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้รวดเร็วไม่พลาดเทรนด์ที่เกิดขึ้น และด้านแบรนด์ (Branding) โดยปรับรูปลักษณ์ของ LINE TODAY ให้ดูทันสมัยมากขึ้น การปรับรูปแบบตัวอักษร การจัดวาง ให้สวยงาม และง่ายต่อการเข้าชมแต่ละคอนเทนต์
LINE WEBTOON เปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องให้เข้าหา Gen Z
อีกหนึ่งบริการจาก LINE ที่ได้รับความนิยมในกลุ่ม Gen Z คงหนีไม่พ้น LINE WEBTOON ที่ปัจจุบันมีการต่อยอดธุรกิจออกไปนอกเหนือจากคอนเทนต์การ์ตูน และเรื่องเล่าออนไลน์ สู่การผลิตเป็นซีรีส์ หรือภาพยนต์ออกฉายบนแพลตฟอร์มต่างๆ โดยกว่า 90% ของผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่คุ้นชินกับการใช้ดิจิทัลตั้งแต่เกิดหรือที่เรียกว่า Digital Native โดยกลุ่มดังกล่าวได้เริ่มหันมาสู่การบริโภคการ์ตูน (Comics) ผ่านหน้าจอออนไลน์ และ LINE WEBTOON เป็นทางเลือกที่โดดเด่น ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศที่นิยมอ่านการ์ตูนผ่าน LINE WEBTOON มากที่สุดในโลก และเป็นอันดับ 3 ของโลกในการบริโภค Paid Content บน WEBTOON ดังนั้น LINE WEBTOON ถือเป็นเครื่องมืออย่างดีสำหรับแบรนด์ที่จะสามารถเข้าถึงกลุ่ม Gen Z ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ LINE WEBTOON ยังได้วิเคราะห์ความสำคัญของกลุ่ม Gen Z ต่อแบรนด์ในโลกปัจจุบันด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งการเป็น Tech Savvy ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลสินค้าและบริการทุกอย่างได้บนโลกออนไลน์ และเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตของกำลังซื้อที่แข็งแกร่ง ที่สำคัญพวกเขาพร้อมเปิดใจรับสินค้าใหม่ๆ จากแบรนด์ต่างๆ เสมอ และหากพวกเขาถูกใจแบรนด์หรือสินค้าใดแล้ว ก็พร้อมที่จะประกาศและสร้าง Viral ได้ทันที เหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้สำคัญต่อธุรกิจในโลกยุคใหม่เป็นอย่างมาก LINE WEBTOON จึงได้พัฒนาเครื่องมือที่สนับสนุนแบรนด์ให้เข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถนำเสนอเนื้อหาของแบรนด์ผ่านการเล่าเรื่องในแบบการ์ตูน ซึ่งกลมกลืนและเข้าถึงผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี ต่างกับโฆษณาในรูปแบบดั้งเดิมที่ Gen Z ไม่ให้ความสนใจอีกต่อไป
LINE OpenChat เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ตรงประเภทความสนใจ
LINE OpenChat เป็นอีกหนึ่งบริการที่มาแรงไม่แพ้กัน ตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ตัวเลขการเติบโตบริการชุมชนออนไลน์ LINE OpenChat เติบโตกว่า 225% มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละกว่า 6.5 ล้านคน LINE OpenChat กลายเป็นพื้นที่สำคัญบนโลกออนไลน์ที่เปิดให้กลุ่มเจน Z ได้เข้ามาหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่อยากรู้ ผ่านการพูดคุย ถามคำถามระหว่างกันในห้องหรือชุมชนที่เป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญและรู้จริง อีกทั้งยังมีจุดเด่นด้วยการเป็นพื้นที่ที่ไม่ระบุตัวตน (Anonymous) ทำให้ผู้คนสามารถเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้อย่างอิสระ กลุ่มห้องแชทที่เป็นที่นิยมบน LINE OpenChat ด้วยยอดผู้ใช้งานประจำสูงสุด ได้แก่ กลุ่มอื่นๆ กลุ่มการศึกษา กลุ่มแฟนคลับ และกลุ่มการเงิน การลงทุน ซึ่งล้วนแต่เป็นหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของกลุ่มเจน Z แทบทั้งสิ้น โดยกลุ่มที่มีจำนวนห้องแชทสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มอื่นๆ เช่นดียวกัน ซึ่งเป็นห้องแชทเกี่ยวกับการพูดคุยชิทแชท คนขี้เหงา ความรัก และโควิด มีสมาชิกรวมมากถึง 5.5 แสนคน ดังนั้น ห้องแชท กลุ่มนี้ ยังถือเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดที่สำคัญ หรือ Blue Ocean สำหรับแบรนด์
ปัจจุบัน LINE OpenChat ได้มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ด้วยการเพิ่ม LINE OpenChat Ads ที่แสดงผลในห้องสนทนา ซึ่งกว่า 74% ของผู้ใช้เห็นโฆษณา และในจำนวนนั้นกว่า 80% จดจำได้โฆษณาได้ ทำให้มั่นใจว่าจะตอบโจทย์แบรนด์ และนักการตลาดในแง่ของการโฆษณาที่ตรงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแน่นอน ไม่เพียง LINE OpenChat จะเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับแบรนด์ในการสื่อสารการตลาดแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่แบรนด์จะสามารถค้นหา Insight ของผู้บริโภค เพื่อนำมาปรับปรุงสินค้าและบริการอีกด้วย ถือเป็นเครื่องมืออย่างดีในการสร้างประสบการณ์เชื่อมต่อจาก LINE OA ในการขายสินค้า ปิดการขาย และมีบริการหลังการขายผ่านการพูดคุยบน LINE OpenChat
LINE SHOPPING โซเชียลคอมเมิร์ซโดนใจ เปลี่ยนลูกค้าใหม่ให้เป็นลูกค้าประจำ
ในยุคที่โซเชียลคอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีส่วนแบ่งถึง 61% ของมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซทั้งหมด ขณะเดียวกัน LINE SHOPPING ผู้นำแพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซของไทย ก็เติบโตอย่างมากถึง 143% โดยปัจจุบันมีร้านค้าบน LINE SHOPPING มากถึงกว่า 350,000 ร้านค้า มีการเติบโตของยอดขาย 256% และการเติบโตของผู้ใช้ 191% เหตุผลที่ LINE SHOPPING เติบโตได้มากขนาดนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะพฤติกรรมของผู้คนที่หันมาใช้เครื่องมือออนไลน์ในการซื้อขายเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่เป็นเพราะ LINE SHOPPING มีจุดแข็งที่โดดเด่น คือ เป็นเครื่องมือให้กับร้านค้าทุกร้านที่ใช้โซเชียลมีเดียในการขายของ และมีการพัฒนาสร้างความสะดวกให้ผู้ซื้อสามารถเห็นร้านค้าบนแพลตฟอร์มได้ง่ายและหลากหลายมากขึ้น และทั้งสองจุดเด่นนี้เอง ที่ช่วยแก้ปัญหา ความไม่สะดวกเดิมๆ ให้กับร้านค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง (1) การปิดการขายและชำระเงินได้ในที่เดียว (Seamless Journey) (2) เครื่องมือช่วยสร้างยอดขายบนโซเชียล อาทิ คูปองลดราคา การแจก LINE POINT การให้พื้นที่หรือสื่อช่วยประชาสัมพันธ์ร้าน และ (3) การเก็บข้อมูลลูกค้าได้ด้วยตัวเองผ่านโซลูชั่นบน LINE SHOPPING ทำให้สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ มาใช้ในการนำเสนอสินค้าในครั้งต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม LINE SHOPPING ไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์มที่สร้างเครื่องมือใหม่ๆ ในการขายเท่านั้น แต่มีเป้าหมายที่จะผลักดันโซเชียลคอมเมิร์ซสู่โลกยุคใหม่ จึงมีการทำแคมเปญใหม่ๆ ผ่านการใช้ประโยชน์จาก LINE Ecosystem เช่น แคมเปญล่าสุดที่จับมือกับ LINE MAN ในการให้โค้ดส่วนลดกับลูกค้าที่ช้อปบน LINE SHOPPING นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนา LINE SHOPPING API ที่จะเชื่อมต่อระบบต่างๆ ที่ร้านใช้งานเข้ากับระบบของร้านบน LINE SHOPPING ได้ด้วย เพื่อช่วยให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพขึ้น อาทิ การอัพเดทไอเท็มสินค้าที่มี SKU จำนวนมาก การบริหารสต็อกสำหรับแบรนด์ที่มีช่องทางการขายหลายทาง หรือแม้แต่การทำแคมเปญการตลาดร่วมกันระหว่างแบรนด์ เป็นต้น
เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นของพัฒนาการของ LINE SHOPPING อย่างยิ่ง ที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงและพัฒนา สร้างประสบการณ์ลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันก็ให้ประโยชน์กับแบรนด์สามารถมีการซื้อขายในรูปแบบ Chat & Shop อย่างแท้จริงได้ นอกจากนั้น ยังช่วยสร้างการจดจำแบรนด์ได้ดีขึ้น เพราะการซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดีย ลูกค้าจะจดจำร้านค้าได้ดีกว่าการซื้อขายบน E-Marketplace อีกทั้งยังสามารถสร้างฐานลูกค้าจากผู้ติดตาม เปลี่ยนจากลูกค้าใหม่ให้เป็นลูกค้าประจำได้โดยง่าย และแน่นอนที่สุดช่วยสร้างยอดขายได้เติบโตได้อย่างยั่งยืน เรียกได้ว่า LINE SHOPPING เป็นแพลตฟอร์มสำหรับร้านค้ายุคใหม่อย่างแท้จริง
LINE MAN Wongnai ต่อยอดร้านอาหารรับโลกยุคใหม่ ด้วยโซลูชั่น MyRestaurant
LINE MAN Wongnai ถือเป็นอีกบริการที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นในช่วงของสถานการณ์โควิดระบาดใน 2 ปีที่ผ่านมา สร้างพฤติกรรมการบริโภคอาหารอร่อยที่บ้านให้กับคนไทยได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นพฤติกรรมต่อเนื่องมาถึงในช่วงหลังโควิด โดย LINE MAN Wongnai ตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับบริการหลากหลายประเภท ทั้งในฝั่งของ LINE MAN ที่เน้นบริการ On-Demand ตั้งแต่การส่งอาหาร (Food Delivery) การส่งสินค้าจากหน้าร้าน (Mart) บริการแท็กซี่ (Taxi) และพนักงานส่งของ (Messenger) และในฝั่งของ Wongnai ที่เน้นไปที่บริการเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ ได้แก่ รีวิวร้านอาหาร (Restaurant Review) โปรแกรมการจัดการออร์เดอร์ในร้านอาหาร (POS) ดีลพิเศษจากร้านต่างๆ (Deal) และเป็นพื้นที่ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับร้านอาหาร (Media & Ads) เรียกได้ว่าเป็นบริการที่ครบวงจรสำหรับชีวิตไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน ยืนยันด้วยจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 14 ล้านคน ด้วยจำนวนร้านอาหารที่เข้าร่วมถึงกว่า 830,000 ร้าน และไรเดอร์ให้บริการกว่า 100,000 คน ทั่วประเทศ
ปัจจุบันเพื่อที่จะสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารให้ปรับตัวไปกับยุคดิจิทัลได้โดยง่าย LINE จึงมีโซลูชั่น MyRestaurant สำหรับธุรกิจร้านอาหารได้ใช้ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ ทั้งการบริหารจัดการออเดอร์ที่เป็นเดลิเวอรี่ และการบริหารจัดการออร์เดอร์หน้าร้าน และยังมีฟีเจอร์ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการสื่อสาร และทำการตลาดกับลูกค้ามากขึ้น และล่าสุดได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่คือ Coupon โดยเปิดโอกาสให้ร้านอาหารสามารถสร้างคูปองให้ส่วนลดกับลูกค้า เมื่อเพิ่มร้านเป็นเพื่อนในไลน์ โดยคูปองจะปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของรายละเอียดของร้านบนลิสต์ร้านอาหารบนแอป LINE MAN เพื่อเชิญชวนและดึงดูดให้ลูกค้าผู้ใช้งานเพิ่มร้านนั้นๆ เป็นเพื่อน เพิ่มโอกาสการขายในอนาคต
THAILAND NOW AND NEXT: PREPARING FOR THE CHANGING WORLD ในวันแรกนี้ ชี้ชัดให้เห็นว่า สำหรับทุกธุรกิจ เทคโนโลยีและการเข้าสู่ดิจิทัลเท่านั้น ที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ในยุคนี้ โดย LINE เป็นแพลตฟอร์มที่พร้อมสนับสนุนทุกธุรกิจด้วยโซลูชั่นประสิทธิภาพสูง ที่จะช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขันในโลกยุคใหม่ได้อย่างแท้จริง