เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมและองค์กรต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว โดยมอบความสามารถใหม่ ๆ ได้ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ หรือแม้กระทั่งไม่กี่วัน ซึ่งก่อนหน้านี้อาจต้องใช้เวลานานนับหลายเดือนหรือเป็นปี ๆ ที่อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) เราได้เห็นถึงความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อในเรื่องของบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความต้องการดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เนื่องจากปฏิสัมพันธ์ของผู้คนนั้นเปลี่ยนไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น และคลาวด์เองได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับองค์กรในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่อให้ทันกับชีวิตวิถีใหม่ (new normal)
เพื่อให้เข้าใจถึงภูมิทัศน์ของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและช่วยให้ลูกค้าของเราจัดการกับอุปสรรคต่อทักษะทางดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น AWS ได้มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และเศรษฐศาสตร์อย่าง AlphaBeta ทดสอบและสำรวจความต้องการด้านทักษะขององค์กรต่าง ๆ ทั่วออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ งานวิจัยนี้ได้สำรวจบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลจำนวน 7,193 ราย ทั้งที่มีบทบาทในด้านเทคโนโลยีและที่ไม่ใช่เทคโนโลยี รวมถึงนายจ้างจำนวน 2,166 รายทั่วภูมิภาค ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีขนาดและจากอุตสาหกรรมที่ต่างกัน
บล็อกโพสต์นี้สรุปถึงข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญจากรายงานวิจัยดังกล่าวและยกตัวอย่างให้เห็นถึงวิธีการที่รัฐบาล นายจ้าง ผู้ให้บริการฝึกอบรม และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสามารถทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายเช่นนี้ได้อย่างไร
การประมวลผลคลาวด์ (cloud computing) และความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของทักษะดิจิทัลที่จำเป็นเร่งด่วน
ผลวิจัยของรายงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนของทักษะใหม่ ๆ ในขณะเดียวกันก็ระบุถึงสาขาต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมที่เป็นที่ต้องการสูงสุด ทักษะที่นำมาเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ ความสามารถในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ บนระบบคลาวด์ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือสำหรับนักพัฒนาระบบคลาวด์ ซอฟต์แวร์ด้านการสื่อสารบนระบบคลาวด์ ซอฟต์แวร์ด้านการบัญชี และซอฟต์แวร์ด้านการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM)
เมื่อองค์กรบริษัทต่าง ๆ เปลี่ยนไปใช้ระบบคลาวด์มากขึ้น ความจำเป็นในการรักษาความไว้วางใจจากผู้ได้ประโยชน์ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน สิ่งนี้หมายถึงการทำให้แน่ใจว่าองค์กรรักษาระดับความปลอดภัยสูงสุด ป้องกันข้อมูลสูญหาย และปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดเป็นอันดับสอง โดยมีข้อกำหนดเฉพาะสำหรับทักษะในการพัฒนาและปรับใช้โปรโตคอลและเครื่องมือสำหรับจริยธรรมดิจิทัล (digital ethics) และการรักษาความปลอดภัย
งานวิจัยดังกล่าวยังพบถึงความต้องการในระดับสูงของทักษะด้านคลาวด์ ซึ่งสะท้อนถึงการนำเทคโนโลยีคลาวด์ไปใช้อย่างรวดเร็วทั่วทั้งภูมิภาค ทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาด 10 อันดับแรก ได้แก่ ความสามารถในการประมวลผลบนระบบคลาวด์ขั้นสูง เช่น การออกแบบสถาปัตยกรรมระบบคลาวด์ และความสามารถในการโยกย้ายโครงสร้างพื้นฐานแบบ on-premises ไปยังระบบคลาวด์ การนำระบบคลาวด์มาใช้นั้นกลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการ Digital Transformation ขององค์กร ทั้งนี้เนื่องมาจากความง่าย ความยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับขนาดที่ระบบคลาวด์มีให้
นายจ้างและพนักงานเข้าใจถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับทักษะดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้น
รายงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าพนักงานเข้าใจถึงความจำเป็นในทักษะดิจิทัลในช่วงระหว่างชีวิตการทำงาน โดย 88 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าพวกเขาต้องการพัฒนาทักษะดิจิทัลมากขึ้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอาชีพการงานอันเนื่องมาจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 และ 64 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าพวกเขาต้องได้รับการฝึกอบรมในด้านทักษะที่เกี่ยวข้องกับระบบคลาวด์ ภายในปี 2568 เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลเป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง โดยที่ 85 เปอร์เซ็นต์ ขององค์กรต่าง ๆ ในภูมิภาคระบุว่าการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลช่วยให้บรรลุเป้าประสงค์ด้านดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ 90 เปอร์เซ็นต์ พบว่าพนักงานมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้น และ 88 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่าการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลนั้นช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า 97 เปอร์เซ็นต์ ขององค์กรที่ได้รับการสำรวจในงานวิจัยตระหนักถึงความจำเป็นของการฝึกอบรมพนักงานในทักษะด้านดิจิทัล แต่มีเพียง 29 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่มีแผนดำเนินงานดังกล่าว รายงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า 93 เปอร์เซ็นต์ ขององค์กรและบุคลากรต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงทักษะดิจิทัลที่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับ อุปสรรคสองประการที่พบบ่อยที่สุดคือความตระหนักรู้ว่าทางเลือกการฝึกอบรมนั้นมีอยู่อย่างจำกัด และการไม่มีเวลาติดตามการฝึกอบรม สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการขาดการฝึกอบรมที่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตของแรงงานและเศรษฐกิจทั้งหมด
ภาครัฐและเอกชนสามารถรับมือกับความท้าทายด้านทักษะดิจิทัลได้อย่างไร
จากรายงานของ AlphaBeta หากประเทศเหล่านี้พุ่งเป้าไปที่การฝึกอบรมบุคลากรที่มีทักษะตามจำนวนที่องค์กรต่าง ๆ ต้องการนั้น รัฐบาล ผู้ให้บริการฝึกอบรม และนายจ้างจะต้องจับมือร่วมกันทำงาน AWS มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะจัดการกับความท้าทายดังกล่าว โดยเราตระหนักถึงความจำเป็นต่อการเร่งทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาล และพร้อมดำเนินการได้อย่างทันท่วงที
สำหรับรัฐบาล AlphaBeta แนะนำว่าให้ส่งเสริมหลักสูตรทักษะดิจิทัลที่เป็นที่ต้องการในตลาดสูงผ่านทางพอร์ทัลการฝึกอบรมออนไลน์ ในขณะเดียวกันนายจ้างก็สามารถใช้ประโยชน์จากหลักสูตรฝึกอบรมในอุตสาหกรรมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาพนักงานของตนได้ ตัวอย่างเช่น พอร์ทัล Skill Finder ในออสเตรเลียเป็นตัวเชื่อมให้แรงงานชาวออสเตรเลีย รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลางได้เข้าถึงหลักสูตรฝึกอบรมทักษะดิจิทัล แพลตฟอร์มดังกล่าวประกอบด้วยหลักสูตรทักษะดิจิทัลระดับจุลภาค (digital micro-skills) กว่า 1,000 หลักสูตรที่พัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง AWS
สำหรับนายจ้าง AWS ช่วยสร้างทักษะดิจิทัลภายในทีมของพวกเขาผ่านโปรแกรมต่าง ๆ อาทิ AWS Skills Guild ซึ่งเป็นโปรแกรมเสริมสร้างพัฒนาทักษะแบบครบวงจร สร้างความคล่องแคล่วด้านระบบคลาวด์ (cloud fluency) มีการเปิดใช้งานกับลูกค้าต่าง ๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น National Australia Bank (NAB) โคเรียนแอร์ (Korean Air) และโกลบ เทเลคอม (Globe Telecom) รายงานวิจัยชิ้นนี้แนะนำว่าผู้ให้บริการฝึกอบรมควรทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เช่น ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาและบริษัทเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม หนึ่งในโปรแกรมดังกล่าว ได้แก่ Cloud Ready SG ซึ่งเป็นโปรแกรมทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและคลาวด์แบบองค์รวมที่พัฒนาขึ้นในความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์และ AWS ซึ่งออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของการฝึกอบรมแบบครอบคลุมให้กับแรงงานของสิงคโปร์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
รัฐบาลของแต่ละประเทศสามารถทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมทักษะระดับจุลภาค เพื่อช่วยให้พนักงานพัฒนาทักษะเดิม (upskill) ได้อย่างรวดเร็วเพื่อขยายโอกาสในการจ้างงานและประสานช่องว่างด้านทักษะ ระบบรับรองและพัฒนาความสามารถที่เฉพาะเจาะจง (micro-credential system) ที่พัฒนาโดย New Zealand Qualifications Authority (NZQA) ซึ่งรับรองความสำเร็จของทักษะในระดับที่เล็กกว่านั้นเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับสากลในการนี้
สนับสนุนทักษะดิจิทัลในกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับโอกาสอย่างทั่วถึง
ผลการวิจัยที่สำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ ความจำเป็นในการจัดฝึกอบรมให้กับชุมชน กลุ่มคนผู้ที่ยังไม่ได้รับโอกาสอย่างทั่วถึง (underserved communities) ประกอบไปด้วยผู้หญิง เยาวชนที่มีความเสี่ยง ผู้ที่ว่างงาน ชุมชนในชนบท และแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะต่ำ เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มักจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากยิ่งขึ้นต่อการเข้าถึงโอกาสในการฝึกอบรมทักษะดิจิทัล
AWS เชื่อว่าโอกาสในอาชีพการงานด้านดิจิทัลควรเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ ไม่ว่าใครก็ตามที่มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงใช้งบประมาณจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์เพื่อให้บริการการฝึกอบรมทั่วโลกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นับเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของเราที่จะช่วยให้ผู้คนจำนวน 29 ล้านคนทั่วโลกมีทักษะทางเทคนิคเติบโตขึ้นภายในปี 2025 ใครก็ตามที่สามารถเชื่อมต่อโลกอินเทอร์เน็ตและต้องการเรียนรู้สามารถเข้าถึง AWS Skills Builder ซึ่งเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ทางดิจิทัลที่พร้อมให้บริการใน 16 ภาษา พร้อมหลักสูตรแบบ on-demand ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายมากกว่า 500 หลักสูตร นอกจากนี้ เรายังทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยดงอา (Dong-A University) เกาหลีใต้ กระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ และกระทรวงการอุดมศึกษาของมาเลเซีย เพื่อเปลี่ยนแปลงการถ่ายทอดหลักสูตร (course delivery) พัฒนาประสบการณ์ของนักเรียนนักศึกษา และปรับปรุงผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcomes)
โครงการฝึกอบรมอีกหนึ่งโครงการ มีชื่อว่า AWS re/Start เป็นหลักสูตรแบบเรียนเต็มเวลา 12 สัปดาห์ ไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้แบบฝึกหัดตามสถานการณ์เสมือนจริง บทเรียนในห้องปฏิบัติการ และการเรียนแบบรายวิชา (coursework) เพื่อสร้างทักษะและโอกาสทางอาชีพการงานสำหรับผู้ที่ว่างงานหรือผู้ทำงานต่ำระดับ (underemployed people) ที่กำลังมองหางานด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง AWS re/Start พร้อมให้บริการในกว่า 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และมาเลเซีย
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทีมงาน Education to Workforce (E2W) ของ AWS จัดแฮกกาธอน (hackathon) ที่เรียกว่า Build On ซึ่งเป็นกิจกรรมแฮกกาธอนประจำปีสำหรับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่รักในระบบคลาวด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มาพร้อมกับทักษะการเขียนโค้ด โดยกิจกรรมดังกล่าวสามารถเชิญชวนผู้ที่สนใจมาสมัครร่วมกิจกรรมได้จำนวนหลายพันคนในแต่ละปี ในกิจกรรม ผู้เข้าร่วมจะสร้างสรรค์โครงการทางเทคโนโลยีรวมถึงโซลูชันเพื่อจัดการกับความท้าทายที่สปอนเซอร์ผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมต้องเผชิญ โดยผู้ชนะอันดับต้น ๆ ของกิจกรรม Build On นี้ ได้รับโอกาสการฝึกงานจาก National University Health System (NUHS) ของสิงคโปร์ และ Versent ออสเตรเลีย กิจกรรมแฮกกาธอน Build On นี้เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และปากีสถาน
การสร้างชุมชนระดับโลกที่มีความหลากหลายพร้อมกับทักษะสำหรับอนาคตแห่งโลกยุคดิจิทัล
เนื่องด้วยองค์กรต่าง ๆ ยังคงเร่งฝีเท้าของตนเองเพื่อก้าวสู่ digital transformation การลงทุนด้านการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ บางประเทศได้เริ่มดำเนินการแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เรายังต้องมีอีกหลายโครงการที่จะมาช่วยประสานช่องว่างทักษะดิจิทัล
เพื่อเป็นการสร้างบุคลากรให้มีความหลากหลายและความพร้อม รัฐบาล ผู้ให้บริการฝึกอบรม และนายจ้างจึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อมอบการฝึกอบรมทักษะทั้งเข้าถึงได้และตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เป้าหมายของเราคือการช่วยเหลือผู้คน ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับมืออาชีพให้ช่ำชองด้านเทคโนโลยี ได้รับทักษะใหม่ ๆ ด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง และเรามุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนทักษะแรงงานด้านดิจิทัลด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีเริ่มต้นฝึกอบรมทักษะของ AWS โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เจาะลึกถึงรายละเอียดข้อมูลเชิงลึกจากรายงานวิจัยฉบับเต็ม “การสร้างทักษะดิจิทัลสำหรับตลาดแรงงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป (Building Digital Skills for the Changing Workforce)”
ปีเตอร์ มัวร์ กรรมการผู้จัดการระดับภูมิภาค ด้านภาครัฐทั่วโลก ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส