Baramizi จับมือ Computerlogy ผุด Branding Tech ชูเครื่องมือดัชนีวัดแบรนด์ซุปเปอร์แฟน หัวใจความสำเร็จยุค 5.0

 

บารามีซี่ (Baramizi) ศูนย์สร้างสรรค์กลยุทธ์และประเมินมูลค่าแบรนด์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เผยผลการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง จับมือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการตลาดทำวิจัย พบตัวชี้วัดแบรนด์ซุปเปอร์แฟน หรือ Brand Superfans Index 4 มุมมอง บอกต่อ ปกป้อง สนับสนุน และศรัทธาที่มีต่อแบรนด์ คือหัวใจความสำเร็จของแบรนด์ในยุค 5.0 ล่าสุดร่วมมือ คอมพิวเตอร์โลจี (Computerlogy) ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ระบบบริหารจัดการโซเชียลมีเดียและเครื่องมือฟังเสียงผู้บริโภคบนสังคมออนไลน์ ต่อยอดงานวิจัยบน Branding Tech พัฒนาเครื่องมือสร้างแบรนด์ยุคใหม่ แนะแบรนด์เริ่มต้นสร้างแบรนด์ซุปเปอร์แฟน มุ่งต่อยอดให้ทุกแบรนด์ในประเทศไทยแข็งแกร่งและเพิ่มขีดความสามารถด้วยเศรษฐกิจเชิงการสร้างแบรนด์



นายจุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บารามีซี่ จำกัด เปิดเผยว่า การสร้างแบรนด์เป็นการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในใจของผู้บริโภคผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ปัจจุบันในยุคที่ออนไลน์เข้ามามีบทบาทในทุกธุรกิจ โมเดลการสร้างแบรนด์จึงต้องเปลี่ยนไป โดยจะต้องสามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าเชิงลึกในระดับรายบุคคลได้มากขึ้น ไปจนถึงเป้าหมายสำคัญที่สุดคือ มีแบรนด์เป็นสินทรัพย์ที่มูลค่าเพิ่มทางธุรกิจที่ยิ่งนานวันยิ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ฉะนั้นเมื่อโมเดลการสร้างแบรนด์เปลี่ยนไป วิธีการวัดมูลค่าแบรนด์ก็ต้องเปลี่ยนตามเพื่อให้สอดรับกับบริบทใหม่ในยุค 5.0


“การวัดมูลค่าแบรนด์ในยุคนี้ การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป เนื่องจากแม้แบรนด์จะโด่งดังเป็นที่รู้จัก แต่ไม่ได้ครองใจผู้บริโภค ก็ไม่เกิดการซื้อและบอกต่อ ล่าสุด Baramizi ได้ทำการวิจัยร่วมกับนักวิชาการชำนาญการด้านการตลาด รศ.ดร.ณัฐพล อัสสะรัตน์  อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด และประธานหลักสูตร MBA คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาถึงองค์ประกอบการสร้างแบรนด์ที่มีผลต่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งวิธีการวัดผลมูลค่าของแบรนด์ จนต่อยอดจากการวิจัยสู่การพัฒนาเป็นโมเดลใหม่ที่เรียกว่า Brand Future Valuation หรือ BFV Model ด้วยการแบ่งองค์ประกอบของแบรนด์ออกเป็น 2 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ องค์ประกอบภายในแบรนด์ (Internal Branding) และองค์ประกอบภายนอกแบรนด์ (External Branding) ทำให้พบว่า “Brand Superfans Index” หรือ ตัวชี้วัดแบรนด์ซุปเปอร์แฟน ซึ่งเป็นหนึ่งขององค์ประกอบภายนอกแบรนด์ มีความสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จของแบรนด์” นายจุลเกียรติกล่าว



ทั้งนี้ Baramizi ได้ต่อยอดด้วยการร่วมมือกับ บริษัท คอมพิวเตอร์โลจี จำกัด (Computerlogy) ใช้ Branding Tech พัฒนาเครื่องมือสร้างแบรนด์ยุคใหม่ โดยใช้ “Brand Superfans Index” เป็นดัชนีชี้วัด ด้วยการวัดความแข็งแรงของแบรนด์ในระดับ Brand Superfans ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดจาก 4 มุมมอง ได้แก่ 1. การบอกต่อ หรือ Net promoter score (NPS)  2. การปกป้องแบรนด์ หรือ Brand Guardian Index (BGI)  3. การสนับสนุนแบรนด์ หรือ Brand Supporter Index (BSI) และ 4. ความศรัทธาที่มีต่อแบรนด์ หรือ Brand Faith Index (BFI) เนื่องจากแค่วิธีวัดผลจากการซื้อซ้ำในรูปแบบ CRM เป็นหลัก ไม่เพียงพอในโลกการตลาดยุค 5.0 อีกต่อไป ประกอบกับสื่อดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรุดหน้าบนโลกเสมือนหรือ เมตะเวิร์ส (Metaverse) เป็นคลื่นดิจิทัลดิสรัปชั่นลูกใหม่ที่แบรนด์ต้องให้ความสำคัญและเร่งปรับตัวรับมือ



นอกจากนี้ งานวิจัย Baramizi พบว่าธุรกิจที่เริ่มต้นสร้างแบรนด์ด้วยการสร้าง แบรนด์ซุปเปอร์แฟนที่แข็งแกร่งจากผู้บริโภควงเล็ก ๆ จนเข้มแข็ง และบอกต่อผ่านสื่อดิจิตอลต่าง ๆ ช่วยให้เกิดคอมมูนิตี้ของสาวกแบรนด์และขยายวงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการที่แบรนด์มีสาวกเหนียวแน่นมักจะสร้างผลประกอบการที่ดีให้กับแบรนด์ตามมาด้วย ในมุมมองของ Baramizi อยากตอกย้ำให้แบรนด์ต่าง ๆ เร่งต่อยอดด้วยการสร้างแบรนด์ซุปเปอร์แฟน  เพื่อสร้างแฟนพันธุ์แท้ที่เต็มใจแนะนำบอกต่อและยังพร้อมช่วยปกป้องแบรนด์ เมื่อมีประเด็นที่มีผลกระทบต่อแบรนด์ ซึ่งการบอกต่อและการปกป้องดังกล่าวจากผู้ใช้จริงมีความน่าเชื่อถือสูงกว่า


“ประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแรงอย่างยั่งยืน ภาคธุรกิจมักจะมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งและมีบทบาทมากกว่าการเป็นผู้รับจ้างผลิต ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น ระบบเศรษฐกิจเชิงการสร้างแบรนด์ หรือ Brand Economy ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย Baramizi มีความมุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญคือเป็นกำลังสำคัญช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ ของไทยให้สามารถปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก” นายจุลเกียรติกล่าว



ด้าน นายวัชระ เอมวัฒน์ ประธานบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท คอมพิวเตอร์โลจี จำกัด (Computerlogy) กล่าวว่า ความร่วมมือพัฒนาเครื่องมือ Branding Tech เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจในยุคปัจจุบันโดยได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มในทุก ๆ กระบวนการ เพื่อให้ข้อมูลมีความทันสมัย รวดเร็วทันใจ ทันต่อการนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น

  1. Data gathering กระบวนการรวบรวมข้อมูลตามวัตถุประสงค์ จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายได้แบบ Near real-time
  2. Data collection กระบวนการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ แบ่งกลุ่มก้อนข้อมูลอย่างมีระเบียบ เพื่อเรียกใช้งานได้ตลอดเวลา
  3. Data preparation การจัดเตรียมข้อมูลให้พร้อมใช้งาน คัดกรองข้อมูลขยะ การรวมผลข้อมูล เพิ่มมูลค่าของข้อมูล เพื่อช่วยให้งานวิเคราะห์มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น
  4. Data visualization การนำเสนอข้อมูลในรูปแบบเชิงภาพ การสรุปผล ทำให้เกิดคุณค่าของข้อมูล สามารถวิเคราะห์เจาะลึกได้ เข้าใจมุมมองของข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจได้ดีขึ้นกว่าเดิม



ใหม่กว่า เก่ากว่า