จากสถิติของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายในช่วงโควิด-19 ในกรณีศึกษาประชาชนอายุ 20 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,692 คน ซึ่งเก็บข้อมูลวันที่ 17-23 ตุลาคม 2564 พบว่า พฤติกรรมที่สะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ ความรุนแรงทางวาจา(การพูดส่อเสียด ดูถูก ด่าทอ) ร้อยละ 53.1 รองลงมา ไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว ร้อยละ 35.0 ทำให้รู้สึกอับอาย ประจานกันผ่านสังคมออนไลน์ ร้อยละ 22.6 ทำร้ายร่ายกาย ร้อยละ 20.2 นอกใจคบชู้ ร้อยละ 18.9 และยังพบว่าผู้กระทำทำขณะเมาเหล้าหรือหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 31.4 โดยตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันมีผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เข้ามาขอคำปรึกษาจากฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลจำนวน 71 ราย พบว่าทุกเคส หรือ 100% ถูกกระทำซ้ำ นั่นหมายถึงผู้หญิงเหล่านี้ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวมามากกว่าหนึ่งครั้ง และมักจะใจอ่อน เมื่อฝ่ายชายขอโทษหรือกลับมาทำดีให้ และถูกทำร้ายอีกนับครั้งไม่ถ้วน
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จึงหยิบข้อมูลและอินไซต์นี้ ร่วมมือกับเอเจนซี่โฆษณา วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย(ที่เคยสร้างสรรค์แคมเปญ #บ้านไม่ใช่เวทีมวย) อิเล็กโทรลักซ์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันสร้างสรรค์แคมเปญกระตุ้นจิตสำนึก เนื่องในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งตรงกับวันยุติความรุนแรงในเพศหญิง กับคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ชื่อว่า #ให้มันจบที่ครั้งแรก ขยี้อินไซต์ของผู้หญิงทุกคนที่มักจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นครั้งแรกกับตัวเองได้ รวมไปถึงการถูกทำร้ายครั้งแรก แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่เป็นหลักร้อย อีเว้นท์และการเดินรณรงค์ที่ปกติมูลนิธิจัด จึงไม่สามารถจัดขึ้นได้ ทางครีเอทีฟวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทยจึงคิดโซลูชั่นนำไอเดียที่ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถสัมผัสประสบการณ์ครั้งแรกได้ ด้วย Virtual Museum ที่เป็นเทรนด์การเดินชมมิวเซี่ยมหรือแกลลอรี่เสมือนจริง โดย Disrupt คอนเซ็ปต์นี้ให้กลายมาเป็น “Museum of First Time” ครั้งแรกของเมืองไทยกับพิพิธภัณฑ์ที่สร้างจากเรื่องจริงของเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกาย เปิดประสบการณ์ครั้งแรกแบบ Immersive Experience ที่ให้คุณสามารถมองเห็นในรูปแบบ 360 องศา กับการจำลองบรรยากาศและเรื่องราวที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงของเหยื่อผู้ถูกทำร้าย ตั้งแต่เปิดประตูเข้าบ้าน เรื่องราวความโรแมนติกที่หอมหวาน ของขวัญชิ้นแรก รูปคู่รูปแรก ไปจนถึงความรักที่เริ่มขม เริ่มถูกทำร้ายครั้งแรก สัญญาครั้งแรกว่าจะไม่ทำอีก ไปถึงดีกรีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น การกักขังหน่วงเหนี่ยวไปจนถึงการทำร้ายร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บเลือดตกยางออก โดยตอนพีคของทัวร์พิพิธภัณฑ์นี้ คุณจะพบกับวิดีโอของคนต้นเรื่อง ที่เซอร์ไพร์สคุณได้ไม่น้อยเลย ในตอนจบคุณสามารถแชร์เรื่องราวของตัวเองได้ในเว็บไซต์โดยไม่ต้องเขียนชื่อตัวเอง และถ้าคุณอยากแชร์ประสบการณ์เหล่านี้ให้เพื่อนๆ ก็มีปุ่มแชร์ Ticket หรือตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนที่คุณแคร์ได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์แห่งครั้งแรกได้เช่นกัน สามารถเข้าชม Museum of First Time ได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ไอแพด คอมพิวเตอร์ หรือ แล็ปท็อป
จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า “แคมเปญนี้ เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปได้เรียนรู้นิทรรศการครั้งแรกของผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรงเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้คนในสังคมได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่ช่วงโรแมนติก หวานชื่น จนกระทั่งเกิดการกระทำความรุนแรงขึ้น จะได้เห็นประสบการณ์ว่าความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว แม้ว่าหลายกรณีฝ่ายชายจะพยายามบอกว่า จะปรับปรุงตัว จะไม่ทำอีกแล้ว ซึ่งคำสัญญาไม่เคยเป็นจริง สุดท้ายก็ยังกระทำความรุนแรงต่อคู่รักอยู่ ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงและคนในสังคมได้เรียนรู้ว่าผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรงนั้นมีปัญหาหลายครั้ง และหลายครั้งก็เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเกิดความรุนแรงที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย รุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บ พิการได้ เราอยากให้ผู้หญิงได้เรียนรู้และเรียกร้องสิทธิของตนเอง เพื่อจะได้รู้ว่ามีสิทธิ์ในการเรียกร้องอะไรได้บ้าง สามารถปกป้องตัวเองได้อย่างไรบ้าง และผู้ที่ถูกใช้ความรุนแรงจะได้ทราบว่าเขาจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เราต้องการให้ทุกคนได้เรียนรู้จากนิทรรศการนี้เพี่อนำไปสู่การยุติปัญหาและเพื่อป้องกันการถูกกระทำความรุนแรงซ้ำ”
ชนิกานต์ สิทธิอารีย์ Creative Group Head บริษัทวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เล่าว่า “งานครีเอทีฟก็ตั้งต้นมาจากข้อมูลจริงที่มูลนิธิฯได้ให้มา ว่าเมื่อมีการใช้ความรุนแรงในบ้านเกิดขึ้นครั้งแรกแล้ว มักจะมีคำขอโทษ คำสัญญาต่างๆ นานาจากผู้ชายตามมา แล้วผู้หญิงก็จะให้อภัย เพราะไม่คิดว่าจะมีอีกจริงๆ แต่แล้วมันก็เกิดความรุนแรงครั้งต่อๆ ไปตามมาเสมอ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทุกเคส หลายเคสถึงขั้นเสียชีวิต ครีเอทีฟเลยไปหยิบ Insight เรื่องครั้งแรกของผู้หญิง ที่พอพูดถึงคำว่าครั้งแรก คำนี้ก็มักจะถูกจำกัดความไปในด้าน Positive นึกถึงความรู้สึกดีๆ เป็นเรื่องราวดีๆ ความทรงจำที่ดี โดยเฉพาะเรื่องความรักสำหรับผู้หญิง เราจึงนำคำว่าครั้งแรกมาตีความให้กลมยิ่งขึ้น อยู่ในโลกความเป็นจริงยิ่งขึ้น จึงกลายเป็นผลงาน Virtual Museum กับคอนเซ็ปต์ Museum of First Time โดยสิ่งที่เราคาดหวังจากงาน Museum of First Time นี้คืออยากให้ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายที่ได้รับชม ได้รับรู้และตัดสินใจที่จะออกมาจากความสัมพันธ์นั้นก่อนเลย ซึ่งทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือพวกคุณอย่างเต็มที่ ทั้งทางกฎหมายและการเริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่ รวมถึงคนที่ไม่เคยถูกทำร้ายด้วย ถ้าสักวันที่เค้าได้เจอเหตุการณ์ความรุนแรงในบ้านแบบนี้ เราก็หวังว่าเค้าจะเลือกที่จะจบมันทันทีตั้งแต่ครั้งแรก แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เราหวังคือ การมุ่งหวังให้การทำร้ายร่างกายในบ้านแบบนี้มันหมดไปจากสังคมไทยจริงๆ เราหวังว่าเราจะไม่ต้องทำแคมเปญเรื่องนี้อีกเลยจะดีกว่า”
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยวิธีการดำเนินงานเพื่อให้ผู้ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวความรุนแรงทางเพศได้เข้าถึงสิทธิต่างๆ โดยมีช่องทางการร้องทุกข์ทางเบอร์โทรศัพท์ 02-513-2889 หรือทาง Facebook “มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” ซึ่งมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมีอาสาสมัครทนายความให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย มีนักสังคมสงเคราะห์ให้คำปรึกษาโดยเน้นการเสริมพลังให้กับผู้ประสบปัญหา และมีเครือข่ายกลไกภาครัฐที่จะให้ความช่วยเหลือ คุ้มครองเพื่อให้ผู้หญิงได้หลุดพ้นจากปัญหา อีกทั้งมูลนิธิยังมีการรณรงค์สื่อสารเพื่อให้สังคมเห็นปัญหาจากทัศนคติวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ว่านำไปสู่การเกิดปัญหาความรุนแรงอย่างไร ซึ่งการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้นจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาตั้งแต่ระดับทัศนคติและวิธีคิด โดยหวังว่าสังคมจะเกิดความเท่าเทียมทางเพศได้
ใครที่สนใจเข้าชม Museum of First Time สามารถเข้าไปรับประสบการณ์ได้ที่ www.museumof1sttime.com ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ แล้วอย่าลืมช่วยกันแชร์ช่วยกันเป็นกระบอกเสียงให้ผู้หญิง และบอกผู้ชายที่เคยหรือกำลังใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง ให้ยุติความรุนแรงในเพศหญิงไปพร้อมๆ กัน