ดีป้า เดินหน้าโครงการ Coding in your area จุดประกายโค้ดดิ้งให้เป็นเรื่องใกล้ตัว พร้อมปั้น “เยาวชนโค้ดดิ้ง” ทั่วประเทศกว่า 15,000 คน ก่อนต่อยอดสู่โครงการ Codekathon เพื่อค้นหาสุดยอดเยาวชน พลิกโฉมโลกด้วยโค้ดดิ้ง กว่า 700 คน
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ดีป้า มุ่งยกระดับทักษะดิจิทัลแก่ประชาชนในทุกระดับ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ โดยหนึ่งในทักษะดิจิทัลที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ที่เด็กและเยาวชนทุกคนควรต้องเข้าถึงคือ “โค้ดดิ้ง”
โดย ดีป้า ร่วมกับทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในการยกระดับทักษะโค้ดดิ้งแก่เยาวชนไทยผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาแพลตฟอร์ม CodingThailand.org แหล่งการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งที่มีผู้เข้าถึงมากกว่า 1 ล้านคน การส่งเสริมและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานแก่โรงเรียน เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งอย่างแท้จริง รวมถึงการผลักดันดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านการศึกษา เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมในการยกระดับทักษะโค้ดดิ้งที่จะช่วยเสริมระบบนิเวศการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งอย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาทักษะการสอนโค้ดดิ้งสำหรับครู
ล่าสุด ดีป้า พร้อมดำเนิน โครงการยกระดับทักษะโค้ดดิ้งสู่การประยุกต์ใช้ในท้องถิ่น (Coding in your area) เพื่อจุดประกายการเรียนโค้ดดิ้งให้เป็นเรื่องใกล้ตัว ผ่านการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมควบคุมอุปกรณ์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในท้องถิ่นแก่นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย ถึงมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ เพื่อปั้น “เยาวชนโค้ดดิ้ง” จำนวนกว่า 15,000 คน ครอบคลุมนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่เขตเมือง/นอกเขตเมือง โรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนกองทุน และโรงเรียนเฉพาะความพิการ
“ทีมงานจะลงพื้นที่จัดกิจกรรมถึงห้องเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือฝึกปฏิบัติ สัมผัสอุปกรณ์จริง และมีโอกาสเรียนรู้อย่างเท่าเทียม ด้วยหลักสูตร 1 วันที่ร่วมพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยประจำภูมิภาค 5 แห่ง เพื่อตอบโจทย์ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ จะมีขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
สำหรับการปั้นเยาวชนโค้ดดิ้งในพื้นที่ภาคเหนือ รับหน้าที่โดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งผู้เรียนจะได้ฝึกโค้ดผ่านตัวอย่างที่หลากหลาย อาทิ เครื่องวัด PM 2.5 แจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือ และควบคุมสเต็ปมอเตอร์ปล่อยเมล็ดพืชปลูกป่าทางโดรน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สอนนักเรียนโค้ดดิ้งเพื่อพัฒนาโรงเลี้ยงปูนาอัจฉริยะ และเครื่องวัดอุณหภูมิน้ำหมักปลาร้า พื้นที่ภาคตะวันกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก รับหน้าที่โดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นักเรียนจะได้ฝึกโค้ดผ่านอุปกรณ์จำลองสวนอัจฉริยะบนคอนโด และอุปกรณ์ Security Home บ้านอุ่นใจ ขณะที่พื้นที่ภาคใต้มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รับหน้าที่จุดประกายโค้ดดิ้งนักเรียนผ่านตัวอย่างเซนเซอร์วัดน้ำหนักน้ำยางพารา และกระชังปลาครอบครัวอัจฉริยะ ในส่วนของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) มีคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่จะพานักเรียนโค้ดดิ้งเพื่อสร้างระบบฟาร์มแพะอัจฉริยะ และมัสยิดอัจฉริยะ
นอกจากนี้แต่ละมหาวิทยาลัยยังมีตัวอย่างนวัตกรรมอีกมากมาย รวมกว่า 30 นวัตกรรมที่จะใช้เป็นสื่อการเรียนรู้โค้ดดิ้งด้วยอุปกรณ์ที่หลากหลายอย่าง micro:bit, KidBright และ Arduino โดยโรงเรียนที่สนใจให้มหาวิทยาลัยพันธมิตรประจำภูมิภาคเข้าไปจุดประกายนักเรียนถึงห้องเรียนสามารถสมัครในนามโรงเรียนได้แล้ววันนี้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคมนี้
ภายหลังจากปูพื้นฐานโค้ดดิ้งให้เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับเด็กและเยาวชนทั่วประเทศแล้ว ดีป้า ยังเตรียมโครงการต่อยอดความรู้ด้านโค้ดดิ้งให้กับเยาวชนกว่า 700 คน ผ่านโครงการยกระดับทักษะโค้ดดิ้งสู่การสร้างสรรค์โครงงานนวัตกรรมอัจฉริยะ (Codekathon) โดยมีมหาวิทยาลัยมหาสารคามร่วมพัฒนาหลักสูตร ซึ่งผู้เรียนจะได้ลงมือโค้ดดิ้งสร้างสรรค์นวัตกรรมอัจฉริยะเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4 คน เพื่อแก้ไข Pain point รอบตัว ด้วยหลักสูตรเข้มข้น 4 วัน ครอบคลุมเนื้อหา Smart Farm, Smart Living, Smart Community และ Smart Environment พร้อมประกวดแข่งขัน ค้นหาสุดยอดเยาวชน พลิกโฉมโลกด้วยโค้ดดิ้ง ในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยโครงการ Codekathon จะเปิดรับสมัครนักเรียนภายในเดือนธันวาคมนี้ และมีแผนลงพื้นที่จัดกิจกรรมทั่วประเทศภายในเดือนมีนาคม 2565