NOSTRA LOGISTICS แนะกลุ่มค้าปลีกและโลจิสติกส์ใช้ VRP บริหารจัดการทรัพยากรการขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพงานโลจิสติกส์สูงสุด


นอสตร้า โลจิสติกส์ ผู้พัฒนาโซลูชันและแพลทฟอร์มด้านการบริหารจัดการงานขนส่งและโลจิสติกส์ และระบบบริหารจัดการขนส่งอัตโนมัติ หรือ NOSTRA LOGISTICS TMS แนะธุรกิจกลุ่มค้าปลีกและโลจิสติกส์ต่อยอดเสริมกำลัง TMS ด้วย VRP หรือ Vehicle Routing Problem เครื่องมือวางแผนการใช้ทรัพยากรการขนส่งอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลกำไรด้วยการลดต้นทุนขนส่งกว่า 15% โดย NOSTRA LOGISTICS VRP มีจุดเด่นที่พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยี GIS ระดับโลกจากซอฟต์แวร์ “ArcGIS” ผนวกกับข้อมูลแผนที่ Map Service ที่แม่นยำที่สุดในประเทศไทยจาก NOSTRA Map ทำให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผลที่แม่นยำ เพื่อขยายขอบเขตความสามารถในการวางแผนจัดเส้นทางการขนส่งและลำดับการจัดส่ง จากที่ตั้งจุดส่งสินค้าหรือจุดกระจายสินค้าไปยังลูกค้า ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความสามารถในการบรรทุกสินค้าของยานพาหนะที่มีอยู่ และสอดคล้องตามข้อจำกัดของทรัพยากร ระยะเวลา และความต้องการของลูกค้า รวมถึงกรณีจัดสรรงานขนส่งให้กับผู้ให้บริการขนส่งหลายราย พร้อมประเมินระยะทางและเวลาการจัดส่งจากเส้นทางจริงอย่างเป็นระบบ ลดเวลาการทำงานแบบ Manual ช่วยแก้ปัญหาการจัดเส้นทาง การเลือกใช้ทรัพยากรการขนส่งได้อย่างคุ้มค่า และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเพื่อความพึงพอใจสูงสุด


นางวรินทร สีสุขดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส จำกัด เปิดเผยว่า ในการทำธุรกิจ ผลกำไร คือ ปัจจัยหนึ่งที่บ่งชี้ความสำเร็จ แต่สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ในปัจจุบัน ตั้งแต่ธุรกิจการผลิต ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจค้าปลีก หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่มีการขนส่งเข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวเลขของยอดขายไม่ใช่คำตอบเดียวที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ แต่ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ส่งผลทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและยืนอยู่ได้อย่างยั่งยืน หนึ่งในนั้น คือ “การดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บุคลากร ยานพาหนะ พลังงาน เครื่องมือ ฯลฯ รวมไปถึงงบประมาณในการบริหารจัดการธุรกิจที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้สร้างผลผลิตหรือบริการให้กับลูกค้าได้มากที่สุดและดีที่สุด

“การพัฒนาแพลทฟอร์มเทคโนโลยีบริหารจัดการงานขนส่ง ที่คำนึงถึงเพียงแค่การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านงานขนส่ง และความสำเร็จในการจัดส่งสินค้าให้ถึงที่หมายเพื่อความพึงพอใจของลูกค้า ไม่เพียงพออีกต่อไป โดยจากรายงานโลจิสติกส์ของประเทศไทยประจำปี 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.1 ต่อ GDP ของประเทศ แบ่งสัดส่วนออกเป็น ต้นทุนการขนส่งสินค้า 46.1% ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง 46.5% และ ต้นทุนการบริหารจัดการอยู่ที่ 7.4% มูลค่ากว่า 2,215 พันล้านบาท มีมูลค่าลดลงเล็กน้อยจากปี 2562 ตามการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ตัวเลขต้นทุนโลจิสติกส์ยังคงเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อความต้องการที่ส่งผลให้การบริการขนส่งสินค้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด และไม่ได้จำกัดแค่ในกลุ่มธุรกิจ (B2B) แต่ขยายไปสู่กลุ่มผู้บริโภคโดยตรง ทั้ง B2C และ C2C ความท้าทายจึงอยู่ที่ในขณะที่จุดส่งสินค้าเพิ่มขึ้นและไม่แน่นอน แต่เวลาที่ใช้ในการส่งสินค้าต้องลดลงให้มากที่สุด ธุรกิจเองต้องปรับตัวให้ทันเพื่อสามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นระบบที่ใช้ต้องสามารถเข้ามาช่วยวิเคราะห์ต้นทุน เวลา ประมวลผลเส้นทาง และเลือกใช้ทรัพยากรการขนส่งได้อย่างคุ้มค่าการลงทุนมากที่สุด” นางวรินทรกล่าว

 

NOSTRA LOGISTICS แนะนำธุรกิจต่อยอดความสามารถของระบบบริหารจัดการขนส่งอัตโนมัติ (TMS) ด้วยการเชื่อมต่อ TMS กับการทำ Vehicle Routing Problem (VRP) ที่พัฒนาด้วยการใช้เทคโนโลยี GIS ระดับโลกจาก ซอฟต์แวร์ ArcGIS ผนวกกับ ข้อมูลแผนที่ที่แม่นยำที่สุดในประเทศไทย NOSTRA Map Service โดยนำข้อมูลจุดส่งสินค้ามาใช้วิเคราะห์โครงข่าย (Network analysis) จากข้อมูลถนน เส้นทาง พื้นที่ให้บริการ ประกอบกับเงื่อนไขการจราจรอื่น ๆ เช่น การจำกัดความเร็ว เดินรถทางเดียว รวมถึงเงื่อนไขของผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ เช่น วัน-เวลานัดหมาย จำนวนของสินค้า ประเภทของรถ โดยสามารถค้นหาเส้นทางการเดินทางและให้คำแนะนำการเดินทางสำหรับรถบรรทุก (Truck Routing) เวลาเข้า-ออกงาน เวลาทำงานล่วงเวลา ระยะเวลาทำงาน ณ จุดส่งสินค้า นำมาสร้างเป็นชุดข้อมูลที่ใช้ในการจำลองโครงข่ายการขนส่ง (Network Dataset) ซึ่งสร้างมาจากข้อมูลจุดและเส้น การเลี้ยว และการเชื่อมต่อรูปแบบต่าง ๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ต้องการเส้นทางที่สั้นที่สุด ใช้รถขนส่งจำนวนน้อยที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด หรือใช้งบประมาณน้อยที่สุด โดยจะประมวลผล และแสดงข้อมูลเส้นทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดตามเงื่อนไขที่กำหนดบนแผนที่

ทั้งนี้ นอกจาก VRP จะช่วยบริหารวางแผนเส้นทางการขนส่งอัตโนมัติเพื่อให้ได้เส้นทางที่ดีที่สุดตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว VRP ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้มากกว่า 15% จากต้นทุนเบื้องต้นในงานด้านการขนส่ง โดยยังไม่ได้รวมเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ เข้าไป VRP สามารถช่วยบริหารจัดการทรัพยากรการขนส่ง (Resource Optimization) เช่น ลดเวลาการทำงานของคน จัดรถให้เหมาะสมกับของที่จะส่ง โดยลดจำนวนและขนาดรถขนส่ง หรือรวมสินค้าไปในรถคันเดียวกัน ลดการทำงานล่วงเวลา และที่สำคัญสามารถลดระยะทางการวิ่งรถจากการเลือกเส้นทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดได้อีกด้วย

“ในสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องพัฒนาประสิทธิภาพการขนส่งภายใต้งบประมาณที่จำกัด การบริหารต้นทุนด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี VRP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการให้บริการรองรับการค้าในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ ที่มีเงื่อนไขที่ซับซ้อน มีจุดส่งที่หลากหลาย และต้องการความรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด จึงถือเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่งต่อธุรกิจค้าปลีกและงานโลจิสติกส์” นางวรินทร กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจขนส่งที่สนใจ สามารถติดต่อฝ่ายขายของบริษัทหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อโลจิสติกส์ ได้ที่ www.nostralogistics.com หรือ โทร. 02-116-4478
ใหม่กว่า เก่ากว่า