HUAWEI เรียกร้องให้อุตสาหกรรม ICT ทำงานร่วมกันสู่การพัฒนาก้าวใหม่ของ 5G

 

การประชุมระดับโลก Global Mobile Broadband Forum (MBBF 2021) ประจำปีของหัวเว่ย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยคุณเคน หู ประธานกรรมการบริหาร แบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย ได้ร่วมกล่าวถึงสถานการณ์การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในปัจจุบันรวมถึงโอกาสใหม่ๆ จากนี้ไปว่า “ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปีของการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้งานในเชิงพาณิชย์ เทคโนโลยีนี้ได้ยกระดับประสบการณ์การใช้งานโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคขึ้นมาก และยังได้มอบพลังใหม่ๆ ให้กับหลากหลายภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกอีกด้วย ความก้าวหน้านี้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคาดการณ์เอาไว้ โดยเฉพาะในด้านจำนวนผู้ใช้งาน ความครอบคลุมของสัญญาณ และจำนวนเสาส่งสัญญาณ 5G ในตลาด”


คุณเคน หู ยังได้กล่าวถึงโอกาสใหม่ๆ ที่มาใน 3 รูปแบบซึ่งจะขับเคลื่อนการเติบโตของ 5G ในก้าวต่อไป ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีการบริการของ XR การเติบโตของตลาดอุตสาหกรรม (B2B) และความคืบหน้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


ภาพรวมของการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วโลกในปัจจุบัน

ปัจจุบันมีเครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์จำนวน 176 เครือข่ายทั่วโลก ให้บริการแก่ลูกค้ามากกว่า 500 ล้านคน ความเร็วในการดาวน์โหลดเพื่อการใช้งานของผู้บริโภคโดยเฉลี่ยจะเร็วกว่า 4G ประมาณ 10 เท่าตัว ทำให้ผู้ใช้งานเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น VR หรือการสตรีมคอนเทนต์แบบ 360 องศาได้ ในด้านอุตสาหกรรมนั้น ปัจจุบันมีโครงการที่กำลังศึกษาเพื่อที่จะนำแอปพลิเคชัน 5G ไปใช้ในตลาด B2B หรือ 5GtoB 10,000 โครงการทั่วโลก นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม เช่น ภาคการผลิต เหมืองแร่ หรือท่าเรือต่างๆ ได้ผ่านขั้นตอนการทดลองไปแล้ว และกำลังเพิ่มอัตราการใช้งานเทคโนโลยีรูปแบบนี้ในวงกว้าง


แม้ว่าเทคโนโลยีกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง คุณเคน หู กล่าวว่ายังคงมีบางด้านที่ต้องพัฒนา “ในปัจจุบัน กว่าครึ่งของโครงการ 5GtoB นั้นอยู่ในประเทศจีน เรามีกรณีศึกษามากมายแล้ว แต่เรายังจำเป็นต้องเดินหน้าสร้างธุรกิจในรูปแบบที่ยั่งยืนมากขึ้น”


เขาได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรม ICT ในระยะยาว รวมถึงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากโรคระบาดโควิด-19 การที่ AI จะกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกองค์กร และทุกคนบนโลกกำลังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกันมากขึ้น เทรนด์เหล่านี้ได้มอบโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่มาพร้อมกับความท้าทายด้วย อย่างไรก็ตาม เรายังมีแนวทางที่จะเตรียมความพร้อมเพื่อการรับมือได้


แนวทางแรกคือ อุตสาหกรรมจำเป็นต้องแน่ใจว่าเครือข่าย อุปกรณ์ต่างๆ และคอนเทนต์ที่มีนั้น พร้อมรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Extended Reality (XR) การมอบประสบการณ์การใช้งาน XR จากคลาวด์แบบไม่สะดุดได้นั้น เครือข่ายจะต้องมอบความเร็วในการดาวน์โหลดที่สูงกว่า 4.6 กิกะบิตต่อวินาที และมีค่าความหน่วงน้อยกว่า 10  มิลลิวินาที ในปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ประกาศเป้าหมายสำหรับ 5.5G แล้ว และเชื่อว่าทุกฝ่ายจะช่วยหาทางรับมือกับความท้าทายเรื่องนี้


ในด้านอุปกรณ์นั้น การลดอุปสรรคในการเข้าถึงอุปกรณ์เฮดเซ็ตเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ก้าวไปสู่จุดสูงสุดของเทคโนโลยีเวอร์ชวลเรียลลิตี (VR) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักของ Extended Reality อันเป็นส่วนผสมของทั้ง AR, VR และ MR  ภาคอุตสาหกรรมจึงต้องพัฒนาทั้งด้านอุปกรณ์และคอนเทนต์ ผู้คนต้องการอุปกรณ์ที่เล็กลงและเบาขึ้น รวมถึงเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น และเพื่อเติมเต็มอีโคซิสเต็มของคอนเทนต์ คุณเคน หูได้เรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมร่วมมอบแพลตฟอร์มคลาวด์ และเครื่องมือต่างๆ ในการช่วยให้การสร้างคอนเทนต์ง่ายขึ้น เพราะรู้กันดีอยู่แล้วว่าการสร้างคอนเทนต์ที่เหมาะสม


แนวทางที่สองคือ ผู้ให้บริการทางโทรคมนาคมจำเป็นต้องยกระดับโครงข่ายของตนเองและพัฒนาศักยภาพใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมให้บริการแบบ 5GtoB โครงข่ายที่มีเสถียรภาพเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม ผู้ให้บริการจึงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ ของโครงข่ายอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การส่งสัญญาณจากสถานีภาคพื้นไปยังดาวเทียม (uplink) การวางตำแหน่ง (positioning) และเซ็นเซอร์ (sensing) ทั้งนี้ การใช้ในเชิงอุตสาหกรรมนั้นซับซ้อนยิ่งกว่าการใช้งานของผู้บริโภค โดยเฉพาะด้านปฏิบัติการและการบำรุงรักษา (Operation & Maintenance – O&M) ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และเพื่อช่วยเหลือในเรื่องนี้ หัวเว่ยจึงพัฒนาโครงข่ายแบบอัตโนมัติ (Autonomous Network) ที่ผสานความอัจฉริยะในทุกมิติของเทคโนโลยี 5G นับตั้งแต่การวางแผนและการก่อสร้าง ไปจนถึงการบำรุงรักษาและการปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด


ในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล กลุ่มผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีบทบาทหลายด้านที่แตกต่างกัน นอกจากบริการด้านการเชื่อมต่อแล้ว ผู้ให้บริการยังสามารถเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ ผู้ประสานระบบและอื่นๆ รวมถึงช่วยพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ที่สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการใช้งานเทคโนโลยี 5G ให้ครอบคลุมในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนามาตรฐานทางโทรคมนาคมที่ระบุอุตสาหกรรมแบบเฉพาะเจาะจงนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ในประเทศจีน กลุ่มผู้ให้บริการพร้อมกับพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมเริ่มพัฒนามาตรฐานที่จะใช้กับเทคโนโลยี 5G ในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ การทำเหมืองถ่านหิน การผลิตเหล็ก และพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างช่วยผลักดันให้เกิดการนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นภายในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว


“นอกเหนือจากเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของความแข็งแกร่งที่ไม่สามารถจับต้องได้และอาจจะไม่ได้เกิดผลกำไรในทันที แต่จะเป็นกุญแจสู่ศักยภาพด้านการแข่งขันในระยะยาวในตลาดบริการแบบ 5GtoB” คุณเคน หูกล่าวสรุป


แนวทางที่สาม ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จากการประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ภายในปี พ.ศ. 2573 เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ โดยคุณเคน หู กล่าวว่า “ในทางหนึ่ง เรามีโอกาสที่ดีที่จะสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์ในทุกอุตสาหกรรม พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ในขณะเดียวกัน เรายังต้องตระหนักถึงความจริงที่ว่าอุตสาหกรรมของเรามีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เพิ่มมากขึ้น และเราต้องเริ่มแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปัจจุบัน หัวเว่ยได้ใช้ทรัพยากรและอัลกอริธึมใหม่ ๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราใช้พลังงานน้อยลง และกำลังปรับปรุงพื้นที่ต่างๆ รวมถึงปรับการจัดการพลังงานในศูนย์ข้อมูลของหัวเว่ยให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น”


“ตลอดสองปีที่ผ่านมา เราเห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งด้านเทคโนโลยี ธุรกิจ และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าเมื่อโลกเริ่มฟื้นตัวกลับมา เราจำเป็นต้องตระหนักถึงโอกาสต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้าและเตรียมตัวให้พร้อมกับโอกาสเหล่านั้น  เราจึงต้องเตรียมทั้งเทคโนโลยี ธุรกิจ และศักยภาพ ของเราให้พร้อม” คุณเคน หูสรุป


การประชุม Global Mobile Broadband Forum 2021 นั้นจัดขึ้นโดยหัวเว่ยและพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงองค์กรกำกับดูแลมาตรฐานการสื่อสาร (Global System for Mobile Associations – GSMA) และคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ (SAMENA – South Asia, Middle East, North Africa) โดยงานประชุมครั้งนี้นับเป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ให้บริการโครงข่าย ผู้นำภายในอุตสาหกรรมแนวดิ่ง และพาร์ทเนอร์ด้านอีโคซิสเต็มจากทั่วโลกเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องแนวทางการนำศักยภาพเทคโนโลยี 5G มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมโครงข่ายไร้สายให้ก้าวไปข้างหน้า


HUAWEI

ใหม่กว่า เก่ากว่า