Gogolook นำโดยแอป Whoscall ผนึกศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมต้านอาชญากรรมไซเบอร์ในประเทศไทย

Gogolook ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นป้องกันการฉ้อโกงชั้นนำระดับโลก ที่รู้จักกันดีในนาม Whoscall แอปพลิเคชั่นระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม ร่วมมือกับศูนย์ PCT หรือ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เพื่อให้ความรู้ถึงพฤติกรรมที่น่าสงสัยและการหลอกลวงออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถรู้เท่าทันการหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้นและใช้เครื่องมือต่างๆ ตรวจสอบความถูกต้อง ตั้งแต่ Whoscall เปิดตัวเมื่อ พ.ศ. 2553 Gogolook สามารถปกป้องผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 90 ล้าน ผู้ใช้ทั่วโลก โดยศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหน่วยงานรัฐแห่งที่ 4 ที่ Gogolook ผสานความร่วมมือ ประกอบด้วย กองตำรวจสืบสวนอาชญากรรมประเทศไต้หวัน หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินประเทศเกาหลีใต้ และรัฐบาลเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น
 

ศูนย์ PCT และ Gogolook ร่วมกันประชาสัมพันธ์ เพื่อรณรงค์ป้องกันภัยไซเบอร์และสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนไม่หลงกลเหยื่อมิจฉาชีพ การฉ้อโกงจากเบอร์แปลกปลอม การหลอกลวง (phishing) ทางอีเมล์หรือข้อความ SMS และอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือทางโซเชียลมีเดีย ประชาชนสามารถเข้าถึงเครื่องมือทั้ง แอปพลิเคชั่นระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก Whoscall ที่สามารถช่วยป้องกันภัยจากมิจฉาชีพที่อาจโทรมาล่อลวง และ แชทบอทไลน์ แม่รู้ดี ( เพิ่มเพื่อนได้จากไลน์ไอดี @maeroodee ) เพื่อเช็คข้อความและข่าวสารที่น่าสงสัยแบบทันที กับหน่วยงานพันธมิตรตรวจสอบข่าวและข้อเท็จจริง
 

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์. รอง ผบ.ตร และ ผอ. ศปอส.ตร. ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานงานตำรวจแห่งชาติ (Police Cyber Force) กล่าวว่า “การสื่อสารทางคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต รวมถึงการชำระเงินและรับข่าวสารมีมากขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลกของ COVID-19 ทำให้สถิติของอาชญากรรมไซเบอร์และการฉ้อโกงออนไลน์เพิ่มขึ้นตาม ทั้งอีเมลหลอกลวง การหลอกให้หลงรักออนไลน์ไปจนถึงการฉ้อโกงจากคอลเซ็นเตอร์ และข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับ COVID-19 อาชญากรได้ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้นและเข้าถึงคนที่ทันไม่ระวังตัว สิ่งสำคัญคือการช่วยให้ประชาชนสามรถแยกแยะกิจกรรมที่ไม่ชอบมาพากลได้ง่ายขึ้น และใช้เครื่องมือดิจิทัลช่วยติดตามและตรวจสอบข้อความที่ได้รับ” 
 
แมนวู จู กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ Gogolook กล่าวว่า “การแจ้งเตือนเบอร์โทรเข้า หรือข้อความที่น่าสงสัยเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยป้องกันการฉ้อโกงหรือการกระทำผิดกฎหมายในช่องทางออนไลน์ ความร่วมมือกับ ศปอส.ตร. มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยการนําเทคโนโลยีจากอีโคซิสเต็มป้องกันการหลอกลวงของ Gogolook ทั้งแอปพลิเคชั่นระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก Whoscall และ แชทบอทไลน์ แม่รู้ดี มาเป็นเครื่องมือช่วยป้องกันภัยเบื้องต้นให้กับประชาชน ป้องกันการสูญเสียเงินจากการถูกฉ้อโกงและยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมในสังคมยุคดิจิทัล”

ความร่วมมือระหว่าง ศปอส.ตร. (ศูนย์ PCT) และ Gogolook แสดงถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านการฉ้อโกง Gogolook ยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องและสร้างเครื่องมือเพื่อความรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์ทางโซเชียลมีเดียและโทรศัพท์มือถือ

ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Gogolook ประเทศไทย กล่าวว่า “แคมเปญรณรงค์ป้องกันภัยไซเบอร์และสร้างองค์ความรู้ ‘หยุด อยู่ อย่าง เหยื่อ’ ตีแผ่คดีอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น การหลอกลวงทางโทรศัพท์ SMS อีเมลฟิชชิ่ง และข้อความทางไลน์ เพื่อช่วยประชาชนรับรู้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งแอปพลิเคชั่น Whoscall และ แชทบอทไลน์ แม่รู้ดี บริการในอีโคซิสเต็มการป้องกันการฉ้อโกงของ Gogolook จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อภัยอันตรายในโลกไซเบอร์ และป้องกันอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นได้”

แอปพลิเคชั่น Whoscall สามารถบันทึกสายหลอกลวงได้มากกว่า 1.8 ล้าน สายตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา และยิ่งเบอร์โทรศัพท์ถูกรายงานและยืนยันโดยผู้ใช้มากเท่าไร ก็จะสามารถช่วยป้องกันการฉ้อโกงและหลอกลวงผู้ใช้ได้มากเท่านั้น Whoscall จึงเป็นแอปพลิเคชั่นที่ทุกคนควรมีและได้ใช้ประโยชน์


ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลด Whoscall ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จาก App Store และ Play Store สำหรับแชทบอทไลน์ตรวจสอบข่าวสาร-ข้อความน่าสงสัย แม่รู้ดี สามารถเพิ่มเพื่อนได้โดยไลน์ไอดี @maeroodee หากต้องการร้องเรียน ปรึกษาเกี่ยวกับคดีทางไซเบอร์ สามารถแจ้งไปยังคอลเซ็นเตอร์ ศูนย์ PCT สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบอร์ 1599 หรือ เบอร์ 081-866-3000 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ห้วงเวลา 08.30-16.30 น.

ใหม่กว่า เก่ากว่า