หัวเว่ย จัดงานประชุมพิเศษเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสถานศึกษาอัจฉริยะในประเทศไทยในชื่อว่า "Thailand Smart University Exclusive Forum" ผ่านออนไลน์ ซึ่งได้เชิญอธิการบดีและผู้บริหารกว่า 80 ท่านจาก 14 สถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยเข้าร่วมงานทัวร์ออนไลน์เป็นครั้งแรก เพื่อเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรม ณ สำนักงานใหญ่ ประเทศจีน พร้อมเจาะลึกมหาวิทยาลัยต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยียุคใหม่ "Shenzhen University Town" โดยหวังโชว์ไอเดียและแนวทางในการนำมาประยุกต์ใช้จริง สนับสนุนสถานศึกษาไทยเตรียมความพร้อมในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานรับยุคดิจิทัล
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ถึงแม้การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกชีวิตและความเป็นอยู่ในทุกภาค แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสใหม่ ๆ โดยเฉพาะการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลในภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมและในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม
โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภาคการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงจนมีความเฉพาะตัวสำหรับผู้เรียนแต่ละคนมากขึ้น และยังมีการผสมผสานรูปแบบการสอนต่าง ๆ เข้าด้วยกันมากกว่าเดิม ซึ่งการพัฒนาและการนำเทคโนโลยี ICT ใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้อย่างรวดเร็ว จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการศึกษาเป็นอย่างมาก และเทคโนโลยีจะกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการเรียนการสอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยรูปแบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย การนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะในห้องเรียน, ห้องปฏิบัติการ หรือแม้แต่สำนักบริหารงานของมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีอัจฉริยะ ทั้ง Cloud 5G Big Data และ AI เริ่มมีบทบาทมากขึ้นต่ออุตสาหกรรมการศึกษา โดยมีนวัตกรรม ICT ใหม่ ๆ คอยช่วยรองรับและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมนี้ไปสู่โมเดลแบบดิจิทัล
ระบบการศึกษาที่ใช้เทคโนโลยี ICT เป็นพื้นฐานเริ่มได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายมิติ เช่น วิธีการสอน, การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการจัดการในมหาวิทยาลัย ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Big Data และ Cloud เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในอุตสาหกรรมการศึกษา ทั้งยังได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาและการพัฒนาเทคโนโลยี ICT ไปพร้อมกัน
"การทำงานจากบ้าน (Working From Home) หรือแม้กระทั่งการเรียนจากที่บ้าน (Learning From Home) กลายเป็นเรื่องปกติในมาตรฐานใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยี ดังนั้นการจะสร้างระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและมีความอัจฉริยะจําเป็นต้องเริ่มต้นด้วยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสมัยใหม่" นายอาเบลกล่าว
ภายในงาน “Thailand Smart University Exclusive Forum" คณะผู้บริหารได้เข้าเยี่ยมชม Huawei ICT Exhibition Hall ศูนย์นวัตกรรมที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ ณ สำนักงานใหญ่ของหัวเว่ย ซึ่งได้จัดแสดงเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดสำหรับการเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในแง่ของซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และโซลูชันที่ครอบคลุมสำหรับสถานศึกษาเพื่อรับมือกับความท้าทายของรูปแบบการเรียนการสอนยุคใหม่ รวมถึง Suzhou Lab ซึ่งเป็นศูนย์ทดลองเทคโนโลยีด้านเครือข่ายนวัตกรรมคลาวด์อัจฉริยะเพื่อการสื่อสารข้อมูล
นอกจากนี้ คณะผู้บริหารจากประเทศไทยยังเป็นกลุ่มแรกที่ได้เข้าเยี่ยมชม Shenzhen University Town เมืองที่เป็นศูนย์รวมของกลุ่มมหาวิทยาลัยซึ่งมุ่งเน้นไปที่การวิจัยเพียงที่เดียวในประเทศจีน โดยได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งภายในเมืองนี้ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้และรองรับการพัฒนางานด้านการศึกษา อีกทั้งยังเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในจีนที่ได้สร้างเครือข่ายอัจฉริยะด้วยมาตรฐานเทคโนโลยี Wi-Fi ตัวล่าสุด
“ปัจจุบัน เขตเมืองมหาวิทยาลัยเซินเจิ้นถือเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีมากที่สุดของประเทศ และยังเป็นวิทยาเขตด้านวิทยาศาสตร์อัจฉริยะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากเทคโนโลยีหัวเว่ย ซึ่งถือเป็นแนวคิดหลักในการสร้างสถานศึกษาอัจฉริยะ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานเครือข่ายได้ง่ายดายเพียงขั้นตอนเดียว ทั้งในมุมของผู้ใช้งานที่เป็นอาจารย์และนักศึกษา ขณะที่ในมุมของผู้ดูแลเครือข่ายก็จะสามารถบริหารจัดการเครือข่ายได้ง่ายบนแดชบอร์ดตัวเดียว ด้วยเทคโนโลยีWi-Fi 6 จากหัวเว่ย” นายซุน เทา ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลเครือข่ายเมืองมหาวิทยาลัยเซินเจิ้น กล่าว
งานทัวร์ออนไลน์ในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากคณะผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันการศึกษาในไทย เป็นอย่างมาก อาทิเช่น เทคโนโลยีวันคลิก (One Click) ซึ่งใช้สำหรับการค้นหาสินทรัพย์ (Asset) ต่าง ๆ ภายในเขตเมืองมหาวิทยาลัยเซินเจิ้น โดยถือเป็นหนึ่งในฟังก์ชันสำคัญของระบบควบคุมแบบรวมศูนย์อัจฉริยะ (Smart IOC) ที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้จากการมีโครงสร้างพื้นฐานเน็ตเวิร์ค เช่น Wi-Fi 6
"รูปแบบการจัดงานของหัวเว่ยครั้งนี้ถือว่าจัดได้ดีมาก เนื้อหาเหมาะสมตรงกับความต้องการ ระยะเวลาเหมาะสม มีการไลฟ์ และเจาะลึกให้เห็นห้องศูนย์ข้อมูล มีการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ และมีการสรุปเนื้อหาทั้งหมดให้แก่ผู้เข้าร่วม รวมทั้งยังมีการตอบข้อซักถามได้อย่างครบถ้วน" ดร.เปรมฤดี นุ่นสังข์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าว
ขณะที่ความเห็นจาก ดร.จรวย สาวิถี ผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุว่า เนื้อหาของงานชัดเจนในด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (Smart University) ซึ่งควรเพิ่มรายละเอียดในด้านอื่น ๆ อีก เช่น ตัวอย่างแอปพลิเคชันในมหาวิทยาลัยอัจฉริยะรวมถึงตัวอย่างอื่นจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ย
ในฐานะผู้นําระดับโลกในอุตสาหกรรม ICT หัวเว่ยได้เพิ่มการลงทุนกับนวัตกรรมมากขึ้นและยกระดับนวัตกรรมเทคโนโลยีขึ้นไปอีกขั้น รวมถึงสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมและสังคมโดยรวมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2563 หัวเว่ยได้ลงทุนเป็นเงินกว่า 141,900 ล้านหยวนสำหรับการวิจัยและการพัฒนาซึ่งคิดเป็น 15.9% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท
นอกจากนี้หัวเว่ยยังเป็นพาร์ทเนอร์ด้านเทคโนโลยีที่ได้รับความไว้วางใจและดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างแข็งแกร่งมาเป็นเวลา 22 ปี โดยหัวเว่ยมุ่งมั่นกับการสนับสนุนการพัฒนาอนาคตด้านดิจิทัลของประเทศไทย โดยตั้งเป้าที่จะผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่เป้าหมายการเป็นไทยแลนด์ 4.0 และเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน ภายใต้พันธกิจ “Grow in Thailand, Contribute to Thailand” หัวเว่ยทุ่มเทเพื่อสนับสนุนการสร้างคุณค่าต่อสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง