ภายในงานประชุม 2021 Asia-Pacific Target Network Conference เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายริชาร์ด จิน ประธานสายผลิตภัณฑ์ใยแก้วนำแสงของหัวเว่ย กล่าวว่า การส่งสัญญาณผ่านใยแก้วนำแสงเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยหัวเว่ยมีความมุ่งมั่นสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงเต็มรูปแบบที่มีความอัจฉริยะ เปี่ยมประสิทธิภาพ และมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
ความต้องการใช้งานเครือข่ายที่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้งานแบนด์วิดท์โครงข่ายที่สูงขึ้น
การติดตั้งโครงข่าย 5G ในวงกว้างส่งผลให้การใช้งานเครือข่ายสัญญาณแบบไร้สายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2568 อัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อเดือนโดยเฉลี่ยต่อผู้ใช้หนึ่งรายจะอยู่ที่ 28 GB ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากนี้ทำให้ต้องมีโครงข่ายใยแก้วนำแสงอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อส่งมอบแบนด์วิดท์ที่สูงยิ่งขึ้นด้วย
ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดนี้ ผู้คนเลือกที่จะเรียนออนไลน์หรือทำงานทางไกลมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ทั่วโลกจึงมีการเร่งขยายการเดินสายใยแก้วนำแสงตรงไปยังที่พักอาศัย หรือ FTTH (Fiber to the Home) เพื่อมอบการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับกิกะบิต และตอบสนองความต้องการแบนด์วิดท์ที่สูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ทั้งนี้ สำหรับธุรกิจองค์กร 85% ของบริการในภาคธุรกิจดังกล่าวจะปรับย้ายไปอยู่บนเทคโนโลยีคลาวด์แทน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการเชื่อมต่อคุณภาพสูงเพื่อเชื่อมระหว่างบริการนั้น ๆ กับเทคโนโลยีคลาวด์ ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีในการรวมระบบเครือข่ายโทรศัพท์ที่ใช้ตามบ้านหรือสำนักงานเป็นหนึ่งเดียว (Fixed–mobile convergence หรือ FMC) ก็ยังกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่เริ่มเปลี่ยนการให้บริการมาเป็นแบบ FMC มากขึ้นเรื่อย ๆ
โครงข่ายใยแก้วนำแสงเต็มรูปแบบ รองรับบริการต่าง ๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ
โครงข่ายใยแก้วนำแสงเต็มรูปแบบ ประกอบด้วยสองส่วนหลักคือ การเข้าถึงโครงข่ายผ่านใยแก้วนำแสงเพื่อเป็นรากฐานสำหรับการให้บริการที่หลากหลาย และการส่งสัญญาณผ่านใยแก้วนำแสงเต็มรูปแบบเพื่อเป็นรากฐานสำหรับยุคของคลาวด์ ทั้งนี้ นายริชาร์ด จิน ได้กล่าวว่า ในยุคดิจิทัลที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ โครงข่ายใยแก้วนำแสงเต็มรูปแบบเป็นพื้นฐานของทุกบริการ เพราะสามารถมอบช่องทางการเชื่อมต่อส่วนตัว (Private Line) และช่องสัญญาณแบบ 2C/2H คุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเติบโตของรายได้ให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมจากการส่งมอบบริการคุณภาพสูง นอกจากนี้ การรวมเทอร์มินัลเครือข่ายออพติคัล (Optical Line Terminal หรือ OLT) เข้ากับเครือข่ายออพติคัลทรานสปอร์ต (Optical Transport Network หรือ OTN) จะสามารถสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงเต็มรูปแบบได้อย่างครบวงจร มอบการส่งสัญญาณแบบสเต็ปเดียว (one-hop) ได้ในระดับชั้นใยแก้วนำแสง ส่งประสบการณ์โครงข่ายได้อย่างเยี่ยมยอด พร้อมความหน่วงเพียง 1 มิลลิวินาทีเท่านั้น
ทั้งนี้ สำหรับตลาดบรอดแบนด์ภายในบ้านและองค์กรธุรกิจ กลุ่มผู้ให้บริการในเอเชีย แปซิฟิกจะได้รับโอกาสใหม่ ๆ อีก 3 แนวทางจากโครงข่ายใยแก้วนำแสงแบบระบุเป้าหมายที่ครอบคลุมอย่างเต็มรูปแบบ
การยกระดับความเร็วของแบนด์วิธจาก 100 Mbps สู่ 500 Mbps หรือแม้กระทั่ง 1 Gbps: ความครอบคลุมของเส้นใยแก้วนำแสงที่รวดเร็วและมีต้นทุนไม่สูงนั้นถือเป็นกุญแจสำคัญ ในประเทศฟิลิปปินส์ โซลูชัน AirPon ได้ถูกนำไปใช้เพื่อติดตั้งตัวควบคุมเครือข่ายเส้นใยแก้วนำแสง (Optical Line Terminal – OLT) ในไซต์เคลื่อนที่ เพื่อลดระยะทางการต่อเส้นใยแก้วนำแสงสู่บ้านของผู้ใช้ (Fiber to the Home – FTTH) พร้อมลดระยะเวลาการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะเวลา 12 เดือน (TTM) ลงกว่า 70 % และยังทำให้ได้รับผลตอบแทนการลงทุน (Return of Investment – ROI) สั้นลงจาก 6 ปีเหลือแค่ 3 ปี
การยกระดับโครงข่าย: เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในบ้านผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber to the Room – FTTR) ทำให้สัญญาณ Wi – Fi ที่มีความเร็วระดับกิกะบิตสามารถครอบคลุมได้ทั่วพื้นที่ภายในบ้าน ในประเทศจีน มีที่อยู่อาศัยกว่า 70,000 แห่งนำโซลูชัน HomePON ไปใช้ ซึ่งทำให้อัตราการใช้ Wi-fi เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า อีกทั้งรายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้าหนึ่งคน (Average Revenue Per User – ARPU) ยังเพิ่มขึ้นกว่า 33 % อีกด้วย
การยกระดับการให้บริการ: การเร่งให้เกิดการให้บริการแบบต้นน้ำถึงปลายน้ำ (E2E หรือ End-to-End) สำหรับการให้บริการหลัก ๆ จะทำให้สามารถใช้โครงข่ายด้วยความหน่วงต่ำอย่างต่อเนื่องและส่งมอบประสบการณ์การใช้บริการที่ดีที่สุด ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายในรัสเซียสามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้าหนึ่งคนได้ถึง 10 ดอลลาร์สหรัฐ
นายริชาร์ด จิน กล่าวต่อว่า หัวเว่ยได้เปิดตัวโซลูชัน OptiX Supersite เสริมจากการรวมเทคโนโลยีเทอร์มินัลเครือข่ายออพติคัล (Optical Line Terminal - OLT) เข้ากับเครือข่ายออพติคัลทรานสปอร์ต (Optical Transport Network - OTN) เพื่อสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงแบบระบุเป้าหมายที่ครอบคลุมอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมการให้บริการแบบองค์กรถึงองค์กร (E2E) โดยโซลูชัน SuperSite นี้มีจุดเด่น 3 ประการด้วยกัน ประการแรกคือ การเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพ (super access) ที่จะช่วยให้ไซต์ 1 ไซต์ครอบคลุมการให้บริการช่องสัญญาณทั้ง 2H/2B/2C ประการที่สอง สถาปัตยกรรมที่ช่วยให้เกิดความหน่วงในระดับมิลลิวินาที (ms) และประการที่สามคือ การขยายการให้บริการแบบใช้งานตามความต้องการ (on-demand) ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการส่งมอบบริการสู่ตลาด (TTM) ลงกว่า 90% รวมถึงทำให้โครงข่ายที่ระบุเป้าหมายนี้สามารถตอบโจทย์การใช้งานในอีก 10 ปีข้างหน้าได้อีกด้วย