บทบาทครั้งใหม่ของ Stanford Thailand Research Consortium ต่อการแก้ปัญหา “ช่องว่างทักษะ” ในตลาดแรงงาน เรียนเชิญบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมในโครงการวิจัย Innovative Teaching Scholars (ITS)

 

The Stanford Thailand Research Consortium เชิญบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัย Innovative Teaching Scholars (ITS) รุ่นต่อไป ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนงานวิจัยของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยได้ร่วมมือกับศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (Southeast Asia Center หรือ SEAC) ซึ่งมุ่งเน้นศึกษาวิจัยการพัฒนาที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศไทย

 

การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัลของประเทศไทยถูกเร่งให้เร็วขึ้นจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดรูปแบบใหม่ของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การทำธุรกิจ การศึกษา และในด้านอื่น ๆ อีกมากมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วครั้งนี้ ได้แก่ นักศึกษาและผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาซึ่งกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ต้องใช้ทักษะใหม่ๆ ดังที่ ดร. บริทอส คาแวคแนโร ศาสตราจารย์พิเศษ จากสถาบันการออกแบบ แฮซโซ่ แพลทเนอร์ (Hasso Plattner) ผู้นำร่วมในโครงการ ITS ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างกำลังเผชิญกับปัญหาด้านความไม่สอดคล้องระหว่างการเตรียมความพร้อมของนักศึกษากับทักษะและวิธีคิด (Mindset) ที่จำเป็นต่อความสำเร็จในการประกอบอาชีพในอนาคต ความพิเศษของโครงการ ITS คือการมุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการศึกษาไทยที่สนใจปรับมุมมองสู่การศึกษายุคใหม่ และผู้นำเชิงนวัตกรรมจากภาคองค์กรระดับประเทศ ซึ่งกำลังมองหาคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะสร้างความก้าวหน้าในองค์กรไทยในอนาคต

 

ปัจจุบัน โครงการวิจัยของ ITS กำลังติดอาวุธให้แก่คณาจารย์มหาวิทยาลัยไทยจำนวน 50 ท่าน ด้วยการทดลองการนำแนวทางการสอนแบบใหม่ ในการเตรียมความพร้อมนักศึกษาเพื่อมุ่งสร้างความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ตลอดจนช่วยส่งเสริมอาจารย์เหล่านั้นให้เป็นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมงานและสถาบันของพวกเขาได้ทำในสิ่งเดียวกัน

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ the Stanford Thailand Research Consortium ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “Future Thailand – Innovation in Education and Workforce Development” เพื่อถ่ายทอดผลการศึกษาเบื้องต้นจากโครงการวิจัย ITS พร้อมแบ่งปันมุมมองของภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นของนักศึกษา จากตัวแทนขององค์กรชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) บริษัท เอพี  (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย (สามารถดูการสัมมนาออนไลน์ได้ ที่นี่)

 


ตัวอย่างแนวทางการสอนรูปแบบใหม่ของโครงการวิจัย ITS

  • เปิดโอกาสให้นักศึกษามีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้นในห้องเรียน ซึ่งเพิ่มการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนได้อย่างมีนัยยะสำคัญ 
  • ทำงานร่วมกับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่การทำงาน รวมถึงตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยระบุทักษะเฉพาะที่จำเป็นต่อความสำเร็จในการประกอบอาชีพในอนาคต และนำมาปรับใช้ในหลักสูตรการสอน

มุมมองของภาคธุรกิจต่อปัญหา “ช่องว่างทักษะ”

  • ความร่วมมือในการทำงานระหว่างภาครัฐ องค์กรภาคการศึกษา ตลอดจนภาคเอกชน คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการปิดช่องว่างทางทักษะอย่างเป็นรูปธรรม
  • ผู้สอนจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบการสอนและเรียนรู้การใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับนักเรียนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
  • ไม่เพียงแต่ความรู้ด้านทฤษฏี นักเรียนจำเป็นต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Innovative Teaching Scholars และรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการสมัครเข้าร่วมโครงการในรุ่นถัดไป โปรดกรอกรายละเอียดตามแบบฟอร์มนี้: https://forms.gle/76FL1b9rrmscqKJz6

นอกจากโครงการ Innovative Teaching Scholars แล้ว ภายใต้ความร่วมมือของ the Stanford Thailand Research Consortiumยังมีโครงการวิจัยด้านต่าง ๆ รวมถึงโครงการวิจัยด้านการศึกษาของสแตนฟอร์ด มากกว่า 12 โครงการ ซึ่งมุ่งเน้นความสำคัญในหลากหลายหัวข้อ อาทิเช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent – AI) มาช่วยสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุให้ดีขึ้น โครงการลดการตัดไม้ทำลายป่าพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยในเขตจังหวัดน่านของประเทศไทย รวมทั้งการสร้างข้อมูลเชิงลึกขององค์กรโดยใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Data) และการสร้างความเข้าใจนวัตกรรมผ่านการพัฒนาความรู้บุคลากร

The Stanford Thailand Research Consortium ตั้งอยู่ที่ Stanford’s Office of Vice Provost and Dean of Research ซึ่งบริหารโดย ศูนย์พัฒนาวิชาชีพแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Center for Professional Development) โดยได้ร่วมมือกับ ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (Southeast Asia Center: SEAC) ในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนเงินทุน จาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย

ใหม่กว่า เก่ากว่า