สตาร์ทอัพไทย Moreloop ซึ่งช่วยแก้ปัญหาขยะจากอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยการนำผ้าค้างสต็อกมาใช้ประโยชน์ ได้รับรางวัล SEED Low Carbon Awards (SEED Awards) โดย SEED องค์กรซึ่งได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระดับโลก ซึ่งประกอบด้วย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
Moreloop ก่อตั้งในปี 2561 โดยนายอมรพล หุวะนันทน์ และนางสาวธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ เพื่อลดการทิ้งผ้าส่วนเกินที่เหลือจากการผลิต ด้วยการนำไปขายให้แก่นักออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นหรือเอสเอ็มอี เพื่อแปลงสภาพเป็นสินค้าเพื่อขายให้กับองค์กรธุรกิจรายใหญ่ ในปี 2564 Moreloop ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 317,001 กิโลกรัม จากการแปลงสภาพผ้า 60,000 หลา ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 180,000 ชิ้น นอกจากนี้ ร้อยละ 70 ของผู้บริหาร Moreloop เป็นผู้หญิง ซึ่งทำธุรกิจร่วมกับบริษัทคู่ค้าที่ส่วนใหญ่มีผู้หญิงเป็นผู้บริหาร กล่าวได้ว่า Moreloop เป็นธุรกิจที่ส่งเสริมศักยภาพของสตรี ทั้งนี้ การสนับสนุนจาก SEED จะช่วยให้ Moreloop สามารถทดสอบการขายสินค้าที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ของตนเองบนตลาดออนไลน์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค
ผู้ประกอบการไทยอีก 4 รายที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจาก SEED Awards ได้แก่
- Happy Grocers ส่งเสริมวิธีทำการเกษตรแบบยั่งยืน เช่น เกษตรอินทรีย์ (Organic) เกษตรแบบยั่งยืน (Permaculture) การเก็บพืชผักมาแค่พอบริโภค (foraging) การทำฟาร์มแนวดิ่ง และการทำฟาร์มโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
- Carenation สร้างสรรค์พวงหรีดกระดาษและพวงหรีดดิจิทัล บริการออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับงานศพเพื่อสนับสนุนชุมชนและสังคมไทย
- Find Folk บริการครบวงจรเพื่อการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน
- GooGreens แพลตฟอร์มบริหารจัดการขยะที่ช่วยให้คนทั่วไปนำขยะมาขายและแลกคะแนนสะสมเป็นเงินสดหรือบัตรของขวัญ
Rita Schwarzelühr-Sutter รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของ SEED Low Carbon Awards กล่าวว่า “ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อย มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ประกอบจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ดังนั้น รางวัล SEED Awards ที่ได้รับคือเครื่องมือที่จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี โดยจะมอบเครื่องมือเพื่อพัฒนาธุรกิจ ความรู้ และเครือข่ายที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งธุรกิจสามารถขยายผลลัพธ์เพื่อสร้างผลสำเร็จต่อชุมชนและสังคมในวงกว้างได้อย่างเต็มความสามารถ”
ระหว่างพิธีมอบรางวัลซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ ณ เวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) SEED จะนำเสนอผลวิจัย 'Green Recovery Snapshot' ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาล ผู้บริจาค และผู้ให้บริการทางการเงินมุ่งเน้นให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ MSME เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 เนื่องจาก MSME มีส่วนในการสร้างงานราว 7 ใน 10 ตำแหน่งในตลาดแรงงานของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ในขณะที่กลุ่ม MSME ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมยังก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมผ่านผลิตภัณฑ์และบริการตลอดการดำเนินธุรกิจโดยรวม ทำให้ MSME มีบทบาทอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ผู้ได้รับรางวัล SEED Awards จะได้รับเงินทุนสนับสนุน 10,000 - 15,000 ยูโร (ประมาณ 382,000 – 573,000 บาท) และจะได้รับบริการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวเป็นเวลาสูงสุดหนึ่งปีเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม SEED Accelerator อันเลื่องชื่อ และเพื่อสอดคล้องกับหลักการในการ “มอบรางวัลแก่ผู้เป็นเลิศ และสนับสนุนผู้เข้ารอบ” รองชนะเลิศทั้ง 39 คนจะได้เข้าร่วมอบรมในโปรแกรม SEED Catalyser เพื่อช่วยปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ และพัฒนาความพร้อมด้านการลงทุน
Rainer Agster ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ SEED กล่าวเสริมว่า “ผลงานที่เข้าร่วมชิงรางวัล SEED Award ในปีนี้มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก และขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะทั้ง 9 ราย และรองชนะเลิศอีก 39 ราย SEED หวังว่าสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการสนับสนุนจาก SEED Awards จะเป็นแรงบันดาลใจที่จุดประกายให้กับสตาร์ทอัพในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ในปีนี้ เราได้ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพ 48 ราย ผ่านโปรแกรม SEED Awards และหลายร้อยรายภายใต้โปรแกรมอื่นๆ ของ SEED อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอีกหลายพันรายซึ่งทำหน้าที่ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ดี ซึ่งสามารถส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าเมื่อได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม ดังนั้นเราจึงอยากให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีบทบาททางการเงินพิจารณาธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อย่างละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเริ่มจัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้”
คุณศุภพิมพ์ วัณโณภาศ ผู้ประสานงานของ SEED ในประเทศไทย กล่าวว่า "Moreloop แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการรายย่อยมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย ด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการสร้างตลาดสำหรับสิ่งทอส่วนเกิน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการฝังกลบขยะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างตลาดที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้นด้วยการทำงานร่วมกับธุรกิจที่บริหารงานโดยสตรี SEED รู้สึกภูมิใจที่ได้ให้การสนับสนุน Moreloop ตลอดจนผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากประเทศไทย ได้แก่ Happy Grocers Carenation Find Folk Co. และ GooGreens เพื่อแสดงให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยรายอื่น ๆ ได้เห็นว่าธุรกิจคาร์บอนต่ำสามารถสร้างทั้งผลกำไรและความยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน”
สำหรับรางวัล SEED Awards ประจำปี 2564 สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมชิงรางวัลร้อยละ 69 มีอายุระหว่าง 18-35 ปี และร้อยละ 52 เป็นสตาร์อัพที่บริหารงานโดยผู้หญิง นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2548 SEED Awards ได้มอบรางวัลแก่ผู้ประกอบการมาแล้วทั้งสิ้น 311 ราย ใน 40 ประเทศ และมอบเงินทุนสนับสนุนรวมทั้งหมดกว่า 1 ล้านยูโร ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมชนะรางวัล SEED Awards แต่ละรายมีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนไดออกไซด์โดยเฉลี่ย 7,300 ตัน ผลิตพลังงานหมุนเวียนได้มากกว่า 9,399 กิโลวัตต์ และทำให้เกิดการจ้างงานจำนวน 28.4 งาน โดยร้อยละ 32 เป็นแรงงานในกลุ่มผู้ด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจ