เจฟฟรีย์ หลิว (Jeffery Liu) ประธานหัวเว่ยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวในงานประชุมออนไลน์ด้านความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน 2564 (ASEAN-China Digital Economy Development and Cooperation Forum 2021) ว่า หัวเว่ย ผู้ให้บริการด้าน ICT ชั้นนำระดับโลกมุ่งมั่นส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลด้านพลังงานเพื่อสนับสนุนความร่วมมือของอาเซียนในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ท้าทายในระดับโลก แม้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงในช่วงปีที่ผ่านมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาและมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก แต่สภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้งเมื่อระบบเศรษฐกิจกลับสู่สภาพปกติอีกครั้ง การปรับตัวไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงกลายเป็นเป้าหมายร่วมกันในปัจจุบันของทุกประเทศทั่วโลก
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในระดับภูมิภาคต่อ 6 จาก 20 ประเทศที่มีความเปราะบางมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นรัฐภาคีสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ อาเซียนได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยก็มีการคาดการณ์ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะถึงระดับสูงสุดในปี 2573 โดยมีการตั้งเป้าหมายให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) ในปี 2598
เจฟฟรีย์ หลิว กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั่วโลกโดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (carbon neutrality) เมื่อระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัลเติบโตขึ้น การเร่งรัดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจมีส่วนช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องการกีดกันทางการค้า และสามารถทำข้อตกลงการค้าเสรีได้มากขึ้น”
“หัวเว่ยได้นำประสบการณ์ของตนในด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางพลังงานและระบบจัดเก็บพลังงาน ตลอดจนความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในระบบ 5G คลาวด์ และเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ มาใช้พัฒนาธุรกิจพลังงานดิจิทัลของตน และนำเสนอโซลูชันทางด้านพลังงานดิจิทัลให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ” ประธานหัวเว่ยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวเสริม
เพื่อส่งเสริมด้านพลังงานทดแทน หัวเว่ยได้มีการนำเสนอโซลูชันทางด้านพลังงานดิจิทัลในประเทศและภูมิภาคต่างๆ กว่า 170 แห่ง คิดเป็นหนึ่งในสามของประชากรโลก ณ เดือนธันวาคม 2563 โซลูชันเหล่านี้ได้มีส่วนในการผลิตไฟฟ้า 325 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) จากแหล่งพลังงานทดแทน และช่วยประหยัดกระแสไฟฟ้าได้รวมทั้งสิ้น 10 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 160 ล้านตัน
ในประเทศสิงคโปร์ หัวเว่ย ฟิวชันโซลาร์ โซลูชัน (Huawei FusionSolar Solution) ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มบริษัทซันซีป (Sunseap Group) ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ ในการสร้างทุ่นลอยน้ำนอกฝั่งเพื่อผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ระบบโฟโตโวลเทอิค (Photovoltaic (PV)) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 13,312 ชุด พร้อมระบบแปลงไฟ (inverters) 40 เครื่อง โดยใช้ทุ่นลอยน้ำกว่า 30,000 ทุ่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กลางทะเลครอบคลุมพื้นที่กว่าห้าเฮคตาร์แห่งนี้ คาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึงปีละ 6,022,500 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายไฟฟ้าให้แก่โครงการที่อยู่อาศัยขนาดสี่ห้องนอน จำนวน 1,250 หลังคาเรือนบนเกาะได้ และชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 4,258 ตัน
เจฟฟรีย์ หลิว กล่าวต่อว่า “หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมโซลูชันด้าน ICT ครบวงจรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราจะร่วมมือกับอาเซียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (carbon footprint) โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่สะอาด รถยนต์ไฟฟ้า และระบบอัจฉริยะในการจัดเก็บพลังงาน เพื่อสร้างสังคมที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด"