หัวเว่ย และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature หรือ IUCN) ร่วมกันจัดงาน “เทคโนโลยีกับความยั่งยืน ร่วมสร้างโลกสำหรับทุกคน” (Tech & Sustainability: Everyone's Included) เพื่อหารือเกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการขับเคลื่อนความยั่งยืน สร้างโลกที่มีความเท่าเทียม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวแทนจากหัวเว่ย IUCN สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) องค์กรตรวจวัดรายงานและเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม CDP (Carbon Disclosure Project) โครงการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมโลก GeSI (Global Enabling Sustainability Initiative) และสถาบันกิจการระหว่างประเทศของสิงคโปร์ (Singapore Institute of International Affairs) เข้าร่วมหารือ
ภายในงาน หัวเว่ยได้เผยรายงานความยั่งยืนประจำปี พ.ศ. 2563 และเปิดตัวโครงการ Seeds for the Future Program 2.0 ซึ่งหัวเว่ยวางแผนในการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะให้กับนักพัฒนาทางด้านไอที จำนวน 4,500 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ โดยคาดว่าโครงการนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนมากกว่า 3 ล้านชีวิต นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้เปิดตัวซีรีส์สารคดีที่ชื่อ Innovation: Blood, Sweat and Dreams ซึ่งเป็นการยกย่องผู้สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยี และนักอนุรักษ์คนสำคัญ
สนับสนุนการเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัลอย่างเท่าเทียม
คุณเหลียง หัว ประธานกรรมการบริหารของหัวเว่ย กล่าวขณะเปิดตัวโครงการ Seeds for the Future Program 2.0 ว่า “ทักษะและความรู้ทางดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น แต่ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ทุกคนดังที่สหประชาชาติได้นิยามไว้ โครงการ Seeds for the Future Program 2.0 เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของเราในการพัฒนาบุคลากรด้านนี้ โดยเราจะลงทุนเป็นจำนวน 4,500 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ เพื่อช่วยให้นักศึกษาและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้พัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัล คาดว่าโครงการนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนกว่า 3 ล้านชีวิต”
รายงานจากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ในปี พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นว่ายังมีผู้คนที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี จำนวนกว่า 2,200 ล้านคนทั่วโลก ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านไม่ได้ ส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมทางเทคโนโลยีขยายวงกว้างและรุนแรงมากขึ้นในกลุ่มผู้เปราะบางทั่วโลก คุณไอรีนา โบโกวา สมาชิกคณะกรรมการของศูนย์เพื่อประชาคมโลก พัน กี-มุน (Ban Ki Moon Center for Global Citizenship) และอดีตอธิบดีขององค์การยูเนสโก ได้กล่าวภายในงานว่า “ความไม่เท่าเทียมทางเทคโนโลยีนั้นส่งผลต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตน้อยกว่าผู้ชาย และช่องว่างนี้จะขยายกว้างขึ้นอีกเรื่อย ๆ โดยปัจจุบัน ผู้หญิงมีโอกาสในการเข้าถึงความรู้ทางเทคโนโลยีน้อยกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า และผู้หญิงที่เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็มีสัดส่วนเพียง 6% เท่านั้น ซึ่งการแก้ปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างผู้ชายและผู้หญิงนี้จะต้องใช้เวลานานถึง 170 ปี”
คุณอัฟเกอ สการ์ต รองประธานอาวุโสฝ่ายรัฐสัมพันธ์ระดับโลกของหัวเว่ย ยังได้ขึ้นกล่าวภายในงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมว่า “จากรายงาน Sustainability Report 2020 จะเห็นได้ว่าหัวเว่ยได้เปิดตัวโครงการอย่าง HUAWEI4HER และ TECH4HER เพื่อช่วยผู้หญิงพัฒนาทักษะด้าน ICT และสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศภายในภาคอุตสาหกรรม”
ตอบโจทย์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสีเขียว
“การพัฒนาสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้กลายมาเป็นความสำคัญระดับต้น ๆ ของระบบเศรษฐกิจ หัวเว่ยได้ใช้ประโยชน์จากประสบการณ์เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ด้านพลังงานและระบบกักเก็บพลังงาน ตลอดจนความเชี่ยวชาญด้าน 5G, Cloud, และ AI ในการพัฒนาธุรกิจและให้บริการด้านพลังงานดิจิทัลสำหรับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ผลิตภัณฑ์และบริการด้านพลังงานดิจิทัลของหัวเว่ย ได้สร้างพลังงานไฟฟ้ากว่า 325 พันล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงจากแหล่งพลังงานทดแทน และสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้ารวมได้ถึง 10 พันล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ความพยายามดังกล่าวจึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 160 ล้านตัน” คุณเหลียง กล่าวเสริม
เทคโนโลยี ICT คือแรงขับเคลื่อนสำคัญในการอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยมลพิษของภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยคาดการณ์ว่าหากใช้เทคโนโนโลยี ICT สนับสนุนร่วมด้วย ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะลดน้อยลงเป็นอย่างมากหรือคิดเป็นสิบเท่าหากเทียบกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรม ICT เพียงอุตสาหกรรมเดียว โดยคุณเทา จิงเหวิน คณะกรรมการและประธานกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน (CSD) ขององค์กรของหัวเว่ย ได้กล่าวว่า “หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้เกิดโซลูชัน ICT สีเขียวแบบบูรณาการ เพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในการอนุรักษ์พลังงานและลดปริมาณการปล่อยมลพิษ ปัจจุบัน เรายังคงดำเนินบทบาทในเชิงรุกเพื่อสนับสนุนให้เกิดสังคมที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปราศจากมลพิษ”
นอกจากนี้ เทคโนโลยี Big Data ยังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย โดยคุณพอล ดิคคินซัน ประธานฝ่ายกิจการด้านสิ่งแวดล้อมของ CDP ชี้ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้สามารถติดตามคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (การกระทำที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก) และสร้างแนวทางให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้