วันนี้ Facebook ประเทศไทย ได้จัดงานแถลงข่าวออนไลน์ The Future of Shopping ซึ่งเผยให้เห็นถึงวิธีการใหม่ๆ ที่คนไทยใช้เพื่อค้นหาและเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงแนวโน้มของผู้บริโภคในการใช้งานเครื่องมือใหม่ล่าสุดบนช่องทางออนไลน์ เช่น ฟีเจอร์ Facebook Shops, Live Shopping และ Augmented Reality (AR)
ข้อมูลล่าสุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนอย่างต่อเนื่องของ Facebook ในการเชื่อมต่อผู้คนกับสินค้าที่พวกเขารัก และช่วยปลดล็อคศักยภาพของธุรกิจต่างๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจไปสู่โลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพราะว่าในปัจจุบันยังคงมีข้อจำกัดด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
ด้วยจำนวนผู้คนกว่า 3,300 ล้านคน และธุรกิจอีกกว่า 200 ล้านรายที่ใช้งานแอปพลิเคชันในเครือของ Facebook เป็นประจำทุกเดือน ทำให้ Facebook ยังคงเป็นแพลตฟอร์มชั้นนำของการเชื่อมต่อและการค้นพบสินค้าใหม่ๆ ของคนไทยที่พร้อมจะสร้างปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจต่างๆ อย่างสร้างสรรค์และสะดวกสบาย
คุณแพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย กล่าวเน้นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้านประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์ครั้งนี้ ในระหว่างการเผยผลการศึกษาครั้งใหม่ของ Facebook ภายในงานว่า “ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เราได้เห็นนักช้อปออนไลน์ทั่วโลกร้อยละ 86 ซึ่งใช้งานแอปพลิเคชันในเครือของ Facebook เป็นประจำทุกสัปดาห์ ตัดสินใจซื้อสินค้าที่พวกเขาค้นพบบนแพลตฟอร์มของเรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไป จาก “การออกไปช้อปปิ้ง” เป็น “การช้อปปิ้งได้ตลอดเวลา” ผู้คนไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การค้นหาสินค้าที่ตัวเองรู้จักอยู่แล้วอีกต่อไป การซื้อขายที่มาจากการค้นพบและโซลูชันการช้อปปิ้งอย่างไร้รอยต่อทำให้ผู้คนสามารถค้นพบและเลือกซื้อสินค้าที่พวกเขามีแนวโน้มที่จะชอบได้ง่ายยิ่งขึ้น”
นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างการเชื่อมต่อที่มีความหมายกับลูกค้าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ และผู้บริโภคบนโลกดิจิทัลในประเทศไทยก็ได้เผยให้เห็นถึงโลกของการช้อปปิ้งแห่งอนาคต ตามข้อมูลจากผลการศึกษาที่ถูกเปิดตัวภายในงานโดย Country Director ของ Facebook ประเทศไทย
ความสำคัญของการเลือกซื้อสินค้าที่ค้นพบ และการซื้อขายผ่านการทักแชทที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจาก ‘การทักทาย’ เป็น ‘สั่งซื้อ’
จากการที่ผู้บริโภคถูกดึงดูดด้วยประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้บริโภคและความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ลูกค้ากลุ่มแรกๆ ที่มีความล้ำสมัย หรือที่เรียกว่า early adopters ในตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างประเทศไทย ได้เผยให้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึกที่ชัดเจนเกี่ยวกับโลกของการช้อปปิ้งแห่งอนาคต และวิธีการที่ประสบการณ์การค้าปลีกกำลังเดินหน้าไปสู่การซื้อขายบนโลกดิจิทัล
เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทรนด์นี้มากขึ้น Ipsos ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 18-64 ปี จำนวน 1,500 คน ที่มีการใช้งานแอปพลิเคชันส่งข้อความเป็นประจำทุกเดือน อย่างน้อย 1 แอป ในประเทศไทย ในการศึกษาที่มีชื่อว่า ‘State of Connective Media: Business Messaging’ โดยพบว่าการเลือกซื้อสินค้าที่ค้นพบ และการซื้อขายผ่านการทักแชทได้กลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในเส้นทางการซื้อสินค้าของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ เพราะว่าโรคระบาดโควิด-19 ได้มีส่วนทำให้ภาคธุรกิจท้องถิ่นปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจไปสู่โลกออนไลน์ และมอบประสบการณ์ที่สร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้น
รายงานนี้เผยให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทย หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการช้อปปิ้งมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงปฏิสัมพันธ์กับเหล่าธุรกิจด้วย ผู้บริโภคนั้นเปิดรับและรู้สึกสบายใจกับประสบการณ์เหล่านี้มากขึ้น โดยเห็นได้จากการที่ผู้บริโภคชาวไทยในกลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennials 8 ใน 10 คนชอบที่จะติดต่อร้านค้าผ่านแอปพลิเคชันส่งข้อความมากกว่า และผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย 4 ใน 5 คนบอกว่า พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับภาคธุรกิจมากขึ้นหลังจากการแชทออนไลน์
ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้บริโภคให้ความสนใจกับประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบ immersive ที่พวกเขาสามารถมีส่วนร่วม และสานต่อความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจได้ ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยร้อยละ 65 กล่าวว่าพวกเขาทดลองใช้ฟีเจอร์การซื้อของผ่านการไลฟ์สดในปีที่ผ่านมา และร้อยละ 28 ได้ซื้อของผ่านช่องทางนี้ และในจำนวนนี้มีจำนวนถึงร้อยละ 84 ที่มีการซื้อของผ่านการไลฟ์สดทุกเดือน ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย 9 ใน 10 คน (ร้อยละ 92) คาดว่าจะเพิ่มการซื้อของผ่านการไลฟ์สดในปีนี้ เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Augmented Reality (AR) หรือวิดีโอ ได้กลายเป็นพื้นฐานของประสบการณ์ช้อปปิ้งสำหรับผู้บริโภคไปแล้ว โดยร้อยละ 88 ของคนไทยกล่าวว่า AR ได้เข้ามาเสริมประสบการณ์ดิจิทัลของพวกเขา และพวกเขาก็หวังที่จะเห็นแบรนด์นำฟีเจอร์นี้ไปใช้ด้วย
ขณะเดียวกัน การซื้อขายผ่านการทักแชทก็ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของประสบการณ์การช้อปปิ้ง โดยลูกค้าร้อยละ 83 มีการส่งข้อความหาร้านค้าในช่วงก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ร้อยละ 70 ส่งข้อความในช่วงซื้อสินค้า และร้อยละ 58 ส่งข้อความหลังทำการซื้อไปแล้ว จะเห็นได้ว่าการแชทผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Messenger จาก Facebook ได้กลายมาเป็นช่องทางสำคัญในการซื้อขายตั้งแต่ขั้นตอนของการค้นพบไปจนถึงช่วงหลังการซื้อสินค้าไปแล้ว เพราะว่าร้านค้าสามารถแนะนำลูกค้าตลอดเส้นทางการซื้อขาย และมอบประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคลได้โดยไม่ต้องออกจากแชทเลย เดินหน้าลงทุนในเทคโนโลยีที่จะช่วยเสริมประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบเฉพาะบุคคล
งานแถลงข่าวออนไลน์ The Future of Shopping ยังได้เผยให้เห็นถึงวิธีที่ Facebook ได้ตอบสนองความต้องการของธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงการเดินหน้าลงทุนในเครื่องมือ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเชื่อมต่อธุรกิจและลูกค้าเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างการค้นพบที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้นำไปสู่การตัดสินใจซื้อในที่สุด
ตัวอย่างเช่น การเปิดตัว Facebook Shops ในประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นการทำให้เจ้าของธุรกิจสามารถเปิดหน้าร้านออนไลน์ เพื่อมอบประสบการณ์อันไร้รอยต่อบน Facebook และ Instagram ได้อย่างง่ายดาย และด้วยจำนวนร้านค้าบน Facebook Shops กว่า 1.2 ล้านร้านค้าที่มีการค้าขายเป็นประจำทุกเดือน รวมกับจำนวนผู้เข้าชม Shops กว่า 300 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละเดือน เจ้าของธุรกิจชาวไทยสามารถเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าจากทั่วโลกสามารถค้นพบสินค้าของตนเองได้ นอกจาก Shops แล้ว Facebook ยังได้นำเสนอฟีเจอร์อื่นๆ เช่น Shops Ads Solutions, Product Tags และ Customs Audiences เพื่อช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบเฉพาะบุคคล เพราะว่ากลุ่มลูกค้าจะสามารถพบเห็นสินค้าที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเองได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ Facebook ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเป็นรากฐานของวิถีแห่งการช้อปปิ้งในอนาคตอีกด้วย โดยมีการประกาศเปิดตัว API สำหรับ Messenger และ Instagram ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจและลูกค้าสามารถสนทนากันได้ง่ายขึ้น รวมไปถึง Instagram Visual Search for Shopping และการโฆษณาที่ใช้เทคโนโลยี AR ในการที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนได้ลองสินค้าที่ตนเองสนใจ
ช่วยให้ธุรกิจก้าวไปอีกขั้น ด้วยเทคโนโลยีการค้าแห่งโลกอนาคต
งานดังกล่าว ยังมีการพูดคุยกับผู้บริหารจาก KaoJao ซึ่งเป็นผู้นำในการให้บริการโซลูชันเพื่อธุรกิจ และเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของ Facebook ในการช่วยให้ธุรกิจได้เติบโตบนโลกออนไลน์ผ่านการพัฒนาประสบการณ์การแชทอัตโนมัติบน Messenger ฟีเจอร์การสนับสนุน Live Shopping และการให้บริการสร้างหน้าร้านบน Facebook Shops ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ KaoJao ยังได้ร่วมบอกเล่าถึงวิธีที่พวกเขาสามารถช่วยให้ธุรกิจต่างๆ เติบโต และรับมือกับคำสั่งซื้อจำนวนมากผ่าน Facebook ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเน้นย้ำถึงความสำคัญที่ภาคธุรกิจจะต้องใช้เทคโนโลยีและโซลูชันล่าสุดในการเพิ่มประสิทธิภาพ และทำให้ประสบการณ์การช้อปปิ้งของลูกค้าเป็นเรื่องสนุก และไร้รอยต่อ
คุณณัฐธภา ศรีมงคล Chief Operating Officer ของ KaoJao กล่าวว่า “Facebook และ Instagram ได้กลายเป็นช่องทางสำคัญสำหรับธุรกิจในประเทศไทย เพราะว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถทำให้บริษัทเข้าถึงลูกค้าจากทั่วโลกและเติบโตได้ นอกจากนี้ฟีเจอร์ต่างๆ ก็ยังช่วยให้การมีส่วนร่วม การเชื่อมต่อ และการสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายกับกลุ่มลูกค้าเป็นเรื่องง่ายขึ้นด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องการที่จะต่อยอดความสำเร็จ ในการวางรากฐาน และเลือกลงทุนในเครื่องมือที่จะช่วยมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ไร้รอยต่อได้”
คุณแพร ดํารงค์มงคลกุล ได้กล่าวสรุปว่า “เรากำลังเห็นวิวัฒนาการของประสบการณ์การเชื่อมต่อระหว่างผู้คนกับแบรนด์บนโลกออนไลน์ บริการที่ช่วยเพิ่มมูลค่าอย่างเช่น KaoJao ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของ Facebook นั้นมีความสำคัญในโลกของการช้อปปิ้งออนไลน์ในประเทศไทย และด้วยความที่โลกของการค้าขายในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยการแข่งขัน และมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นมาก Facebook จะเดินหน้าลงทุนเพื่อทำให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตบนแพลตฟอร์มของเรา และเพื่อสร้างวิธีใหม่ๆ ให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกับสิ่งที่พวกเขารักได้ง่ายขึ้น”