แผนเตรียมเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบภายใน 120 วันข้างหน้า และโครงการนำร่องอย่างแผนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ที่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ นับเป็นความหวังใหม่ของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ภายหลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ท้าท้ายในตลอด 18 เดือนที่ผ่านมา
หากมองในมุมที่กว้างขึ้นในระดับโลก ผลตอบรับทางบวกที่เกิดขึ้นยิ่งส่งเสริมความเชื่อมั่นและความหวังให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในไทย โดยข้อมูลของ World Hotel Index จัดทำโดย SiteMinder ได้เผยภาพรวมรายวันของยอดการจองโรงแรม ในประเทศไทยและกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตัวเลขล่าสุดอาจช่วยสร้างความหวังและทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมในประเทศไทยกลับมามั่นใจได้อีกครั้งว่าสถานการณ์อาจกลับคืนสู่สภาวะปกติเร็วกว่าที่หลายคนคาด
การจองโรงแรมทั่วโลกกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ยอดผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนลดลง การแจกจ่ายวัคซีน และการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ทำให้อัตราการจองโรงแรมทั่วโลกปัจจุบัน เพิ่มสูงขึ้น โดยนับว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยในช่วงที่ผ่านมา มีอัตราการจองเพิ่มขึ้นกว่า 65% ของยอดจองที่พักปี 2019 นับเป็นยอดจองที่สูงที่สุดในรอบ 465 วันเลยทีเดียว
4 ประเทศ ที่มีอัตราการจองสูงกว่าปี 2019 ได้แก่ หมู่เกาะคุก ไอซ์แลนด์ มัลดีฟส์ และเม็กซิโก และอีก 7 ประเทศ อย่าง ออสเตรเลีย เอสโตเนีย ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ โปรตุเกส สเปน และ และ สหรัฐอเมริกา มีอัตราการจองเพิ่มขึ้นเกินกว่าระดับ 80%
สถิติดังกล่าว นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ถึงแม้จะเป็นการฟื้นตัวของประเทศในฝั่งยุโรป แต่อัตราการจองที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็เป็นที่น่าจับตามอง ตัวอย่างเช่น สเปนที่ฟื้นตัวได้อย่างน่าประทับใจ
ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา อัตราการจองโรงแรมในสเปน คิดเป็นเพียง 38% ของปี 2019 เท่านั้น ซึ่งสูงกว่าอัตราการจองในประเทศไทยในตอนนี้เพียง 13% อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่สเปน อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว สามารถเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัวได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา อัตราการจองโรงแรมจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ โดยคิดเป็น 97% ของปี 2019 ซึ่งนับเป็นการเติบโตที่น่าประทับใจมาก
อีกประเทศตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ หมู่เกาะคุก สถานที่ท่องเที่ยวที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งไม่นานมานี้ อัตราการจองโรงแรม กระโดดขึ้นจาก 17% (ต่ำกว่าอัตราการจองปัจจุบันในประเทศไทย 6%) เป็น 345% ของยอดการจองในปี 2562 ในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังมีการประกาศเริ่ม Travel Bubble กับประเทศนิวซีแลนด์
แน่นอนว่า ประเทศไทยและประเทศอื่นๆในเอเชีย ต่างเผชิญกับความท้าทายที่แตกต่างกันออกไปอันดับแรก คือ นักท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ ไม่สามารถ ขับรถท่องเที่ยว ระหว่างประเทศ (Road Trip)เหมือนนักท่องเที่ยวแถบทวีปยุโรป และบทบาทของนักท่องเที่ยวในประเทศก็มีศักยภาพน้อยกว่ามาก หมู่เกาะคุกเป็นเพียงหมู่เกาะเล็กๆ ที่มีทรัพยากรจำกัดจึงทำให้อัตราการจองห้องพักของโรงแรมเต็มได้ง่ายกว่า
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างเหล่านี้แค่เพียงแสดงให้เห็นถึงความต้องการกลับมาท่องเที่ยวที่มีอยู่ในปัจจุบันและสถานการณ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว หากแต่ละประเทศสามารถเตรียมความพร้อมในการสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวได้ นอกเหนือจากการสร้างแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยว
ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต้องการมา
ภาพการเป็นเมืองท่องเที่ยวของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่งและโดดเด่นในสายตาชาวโลกตลอดแม้ช่วงเวลาที่มีของการระบาดของ ไวรัสโควิด-19
ข้อมูลจาก Skyscanner เผยว่า กรุงเทพฯ จัดอยู่ในประเทศที่ถูกค้นหามากที่สุดบนแพลตฟอร์มของ Skyscanner เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในช่วงระยะเวลา 4 เดือนแรกของปี 2021 เช่นเดียวกับ สถิติจาก Agoda ที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวชาวจีน สิงคโปร์ ไต้หวัน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
ในปี 2020 ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติถึงวิธีการรับมือและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น นับเป็นความสำเร็จที่ทำให้ประเทศได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก ส่งผลให้ นักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ ยังอยากกลับมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย แม้ปัจจุบันจะยังมีการแพร่ระบาดในประเทศก็ตาม
การเตรียมความพร้อมของธุรกิจโรงแรมคือปัจจัยสำคัญ
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เมื่อสถานการณ์มีความพร้อมและมีแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมไปถึงการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ซึ่งเราคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเร็ววัน
ด้วยเหตุผลนี้ โรงแรมควรเตรียมความพร้อม และปรับตัวให้ทันตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ และแม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาพักที่โรงแรมในปีนี้หรือในปี 2022 จะมีพฤติกรรมแตกต่างจากกลุ่มนักท่องเที่ยวในปี 2019 หรือ ช่วงก่อนปี 2020 อย่างแน่นอน
โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักต่อจากนี้จะมีความ Mobile-Savvy มากขึ้น ซึ่งพวกเขาไม่เพียงแต่ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อทำการจองที่พักเท่านั้น แต่ยังใช้ในการเช็คอิน เป็นช่องทางสื่อสารทั้งหมด รวมไปถึงการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆในห้องพักด้วย และจุดประสงค์ของนักท่องเที่ยวในการเดินทางเพื่อธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยสอดแทรกการทำงานเล็กน้อยในการเดินทางเพื่อการพักผ่อนแทนการเดินทางเพื่อทำธุรกิจเท่านั้น นอกจากนี้ พวกเขายังมีความคาดหวังที่สูงขึ้นในทุกๆด้าน ไม่.เพียงแค่ที่พักที่ใส่ใจความสะอาดมากขึ้น แต่รวมไปถึงการได้รับประสบการณ์ที่แสนพิเศษ และน่าประทับใจเช่นกัน
ณ วันนี้ เราอยากให้ผู้ประกอบการโรงแรมในประเทศไทย ลองมองในมุมที่กว้างขึ้น ด้วยการพิจารณาข้อมูลและสถานการณ์ทั่วโลก และติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโรงแรมของประเทศอื่นๆอย่างใกล้ชิด เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอาจเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งนี้ เร็วๆนี้ก็ได้