ผลวิจัยล่าสุดจากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ (Oxford Economics) ชี้ ภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารไทยหดตัวร้อยละ 6 ในปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นมูลค่า 2.28 แสนล้านบาท ส่งผลให้การจ้างงานลดลงร้อยละ 8 หรือ 730,000 คน โดยมีสาเหตุหลักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
องค์กรอุตสาหกรรมอาหารแห่งเอเชีย หรือ Food Industry Asia (FIA) ร่วมกับ Oxford Economics ได้จัดทำวิจัยเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อทำความเข้าใจถึงความท้าทายที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยผลวิจัยแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารที่มีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย การจ้างงาน และการส่งมอบผลผลิตทางการเกษตรและอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค
สำหรับหัวข้อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจพบว่า ภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่เผชิญกับความท้าทายในการฟื้นตัวเป็นอย่างมาก และได้คะแนนเพียง 4.9 จาก 10 จากผลการวิจัยเศรษฐกิจ 10 ประเทศในภูมิภาค ซึ่งประเทศที่ได้คะแนนต่ำกว่าไทย คือ ฟิลิปปินส์ และมีอินโดนีเซียรั้งท้าย การที่ประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด อุตสาหกรรมอาหารไทยจึงมีความเปราะบางเป็นอย่างมากเนื่องจากต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว โดยสัดส่วนการบริโภคอาหารของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ณ สิ้นปี 2562 คิดเป็นร้อยละ 9.5 ของการบริโภคอาหารทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่า โอกาสที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเหตุการณ์การแพร่ระบาดน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี (ปี2567)
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลวิจัยในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมนี้อยู่ในสภาวะที่น่ากังวล เนื่องจากอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารในปี 2562 มีสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวม (4 ล้านล้านบาท) ทำให้เกิดการจ้างงานเกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานทั่วประเทศ (17.9 ล้านคน) และสามารถสร้างรายได้จากภาษีให้แก่รัฐบาลมากกว่า 7.08 แสนล้านบาท ตัวเลขเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญที่รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารรอดพ้นจากอุปสรรคและความท้าทายที่มีนัยสำคัญดังที่ปรากฏในผลวิจัย
นายวิศิษฐ์ ยังกล่าวด้วยว่า “รายงานนี้บ่งชี้ถึงความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารที่มีต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากในขณะที่ประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ภาคอุตสาหกรรมนี้กลับหดตัวลงในอัตราที่น้อยกว่าการหดตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารของเราจึงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างเต็มกำลังเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้”
มิสเตอร์ แมททิว โคแวค ผู้อำนวยการบริหาร FIA ให้ความเห็นว่า ก่อนที่จะจัดทำนโยบายและเริ่มใช้มาตรการต่างๆ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังวิกฤต รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการด้านเกษตร-อาหารจะต้องเผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงอย่างรอบด้าน นโยบายหรือมาตรการเหล่านั้นอาจส่งผลเชิงลบต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารและเศรษฐกิจไทย หรืออาจทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปิดกิจการและการเลิกจ้าง
มิสเตอร์ โคแวค กล่าวเสริมว่า “ภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารจะเผชิญกับอุปสรรคอย่างหนักในปีหน้า เนื่องจากอุปสงค์ด้านอาหารและเครื่องดื่มจะลดต่ำลง ในขณะที่ความท้ายทายที่มีอยู่เดิมและเป็นปัญหาในระยะยาวจะยังคงมีอยู่ต่อไปหลังวิกฤตโควิด ผู้กำหนดนโยบายจะต้องพิจารณาประเด็นเหล่านี้ก่อนที่จะบังคับใช้นโยบายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดแรงงาน”
รายงานฉบับนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่ามาตรฐานสากล ซึ่งอาจจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร เนื่องจากรัฐบาลอาจเลือกใช้วิธีการขึ้นภาษีเพื่อนำเงินไปใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยส่วนหนึ่งของรายงานการประเมินความเสี่ยงด้านนโยบายการคลังแสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยจะใช้การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหลังสถานการณ์โควิด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียจากการที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารและผู้บริโภคจะต้องแบกรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น
มิสเตอร์ เจมส์ แลมเบิร์ท ผู้อำนวยการฝ่าย Economic Consulting Asia ประจำ Oxford Economics กล่าวว่า “ภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารของไทยเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมากจากการปรับนโยบายการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 การดำเนินนโยบายการคลังโดยมีการวางแผน การวางเป้าหมาย และการสื่อสารอย่างรอบคอบจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการออกนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อประคับประคองภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร และการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน”
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการดำเนินนโยบายด้านภาษีที่เหมาะสมจะช่วยสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารสามารถสร้างมูลค่าแก่เศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง โดยช่วยสนับสนุนคนไทย ผู้ประกอบการรายเล็ก และส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง เนื่องจาก 1 ใน 3 ของรายได้ภาคครัวเรือนเป็นการใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารและเครื่องดื่ม
รายงานฉบับนี้แนะนำให้รัฐบาลช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารให้ก้าวผ่านความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 และแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก เช่นการปิดชายแดน โดยมุ่งเน้นความช่วยเหลือในสามด้าน ได้แก่ การให้ความรู้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของภาคเกษตรและให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพ การใช้มาตรฐานด้านการกำกับดูแลแทนการดำเนินนโยบายด้านภาษี และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารอย่างสม่ำเสมอ
เนื่องจากจำนวนประชากรและรายได้ที่เพิ่มขึ้นคือปัจจัยทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่มีคุณภาพสูงขึ้น
การวิจัยฉบับนี้จึงเน้นถึงการเพิ่มคุณภาพของอาหาร เช่น การเพิ่มผลผลิตของพื้นที่เพาะปลูกและประสิทธิผลของแรงงาน ซึ่งต้องใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการพัฒนาทักษะ การใช้นโยบายที่เหมาะสมและเอื้อให้เกิดการพัฒนา รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัว เพิ่มประสิทธิภาพ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าด้านอาหารของภูมิภาคที่เน้นการใช้แรงงาน
ดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับเต็มเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่