Huawei รุกพัฒนา Ecosystem ด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล


ภายในงาน Mobile World Congress Shanghai 2021 หัวเว่ยได้เปิด “Digix Lab” แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้ความรู้และยกระดับประสิทธิภาพของนักพัฒนาและพาร์ทเนอร์ในด้านอีโคซิสเต็มของบริการ HMS (Huawei Mobile Service) โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่หัวเว่ยริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างและพัฒนาอีโคซิสเต็มทางเทคโนโลยีที่มีความหลากหลาย และเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลในภูมิภาคดังกล่าวให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
 
Digix Lab ดังกล่าวตั้งอยู่ในชางงี บิสสิเนส พาร์ค (Changi Business Park) ซึ่งหัวเว่ยเห็นความสำคัญของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางทางเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และใช้ประโยชน์จากสถานะดังกล่าวเพื่อเร่งการเติบโตของอีโคซิสเต็มอุปกรณ์เคลื่อนที่ (mobile ecosystem) ทั่วทั้งภูมิภาค โดยออกแบบห้องแล็บนี้ไว้ให้เหมาะสมกับการรองรับนักพัฒนาทุกระดับ

“ในยุคใหม่แห่งเทคโนโลยีอัจฉริยะ หัวเว่ยมุ่งมั่นสร้าง ‘1+8+N’ อีโคซิสเต็มของอุปกรณ์เคลื่อนที่ HMS ครอบคลุมการใช้งานในทุกสถานการณ์ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพให้นักพัฒนาได้สร้างสรรค์นวัตกรรมไปพร้อมกับการสร้างธุรกิจ ทั้งนี้ Digix Lab จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเสริมศักยภาพและช่วยเหลือนักพัฒนาแอปพลิเคชัน ด้วยเครื่องมือพัฒนาแอปฯ ที่จำเป็นสำหรับการสร้างและพัฒนาอนาคตของพื้นที่ทางดิจิทัล” นายเจย์ เฉิน (Jay Chen) รองประธานหัวเว่ย เอเชียแปซิฟิก กล่าวในงาน MWC 2021 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2564


หัวเว่ยจะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในโครงการต่างๆ มากมายเพื่อพัฒนาอีโคซิสเต็มทางเทคโนโลยี เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยนอกเหนือจาก Digix Lab แล้ว หัวเว่ยยังประกาศว่าจะนำแอปพลิเคชันซึ่งมีความต้องการสูงในตลาดท้องถิ่นขึ้นสู่ HUAWEI AppGallery เพื่อยกระดับอีโคซิสเต็มของอุปกรณ์เคลื่อนที่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

จากข้อมูลทางสถิติล่าสุดของ GlobalData เอเชียแปซิฟิกจะกลายเป็นผู้นำด้านการใช้เทคโนโลยี 5G โดยจะมีจำนวนผู้ใช้ 1.14 พันล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 65% ของการใช้งาน 5G ทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2564

หัวเว่ยมีแผนจะลงทุนมูลค่า 475 ล้านบาท (หรือประมาณ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ให้กับศูนย์ 5G EIC ในกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างและพัฒนาอีโคซิสเต็ม 5G ซึ่งหัวเว่ยมุ่งมั่นว่าจะช่วยพัฒนาธุรกิจ SME รวมทั้งธุรกิจสตาร์ทอัพในท้องถิ่น ให้ได้มากกว่า 100 รายต่อปี เพื่อให้เกิดการนำโซลูชัน 5G ไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมแนวดิ่งภายใน 3 ปี

“ศูนย์ 5G EIC เป็นเสมือนพื้นที่ทดลองนวัตกรรมทางดิจิทัลของการนำเทคโนโลยี 5G ไปประยุกต์ใช้และบริการต่างๆ ในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม นวัตกรรมเหล่านี้จะสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับ SME สตาร์ทอัพ และองค์กรการศึกษา ปูทางสู่การบรรลุนโยบาย Thailand 4.0 และสร้างศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน เป้าหมายนี้จะบรรลุได้ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ด้วยความร่วมมือกัน เราจะสามารถเอาชนะอุปสรรคและสร้างอนาคตที่ดีขึ้นได้” คุณวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย กล่าว 

ด้านอีโคซิสเต็มทางเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ หัวเว่ย เอเชียแปซิฟิกได้ริเริ่มโครงการ Spark Program ในประเทศสิงคโปร์เมื่อปี พ.ศ. 2563 เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเชิงลึก ด้วยการใช้ 5G , AI/Machine Learning & Analytics, IoT, Mobile Edge Computing, และแอปพลิเคชัน Mobile & SaaS โครงการดังล่าวได้รับความสนใจจากธุรกิจสตาร์ทอัพกว่า 500 ราย จาก 75 ประเทศ

 
ในด้านการสนับสนุนอีโคซิสเต็มของเทคโนโลยี AI หัวเว่ยก็มีโครงการ Ascend Partner Program, Institute of Higher Learning (IHL) AI Talent Cultivation และ Government AI Industry Development โดยหัวเว่ยและพาร์ทเนอร์จะร่วมกันสนับสนุนประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกเพื่อเสริมศักยภาพด้านการพัฒนา AI การส่งต่อองค์ความรู้ และเสริมทรัพยากรเชิงกลยุทธ์และการตลาดแบบ go-to-market ผ่านโครงการต่างๆ ข้างต้น นอกจากนี้ หัวเว่ยยังจะช่วยอบรมบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีอย่างน้อย 200,000 ราย ภายใน 5 ปีข้างหน้า ผ่านโครงการต่างๆ เช่น ASEAN Academy, ICT Contest และ Online AI Academy

“ในยุคแห่งการทำงานร่วมกันของอีโคซิสเต็ม การร่วมมือกันสำคัญกว่าการแข่งขัน และด้วยเจตนารมณ์นี้ หัวเว่ยจะเดินหน้าเพิ่มการลงทุนให้กับการสร้างอีโคซิสเต็มที่มีความหลากหลายและพรั่งพร้อม เพื่อสร้างเอเชียแปซิฟิกที่อัจฉริยะและเชื่อมต่อถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ” นายเจย์ เฉิน กล่าว
ใหม่กว่า เก่ากว่า