พอเอ่ยถึงสินทรัพย์ดิจิทัล เงินคริปโท โทเคนดิจิทัล บิตคอยน์ ฯลฯ หลายคนอาจมึนงงกับศัพท์แสงพวกนี้แต่ถ้าลองมองย้อนประวัติศาสตร์การซื้อขายแลกเปลี่ยนในอดีตจนมาถึงการใช้เงินตราในปัจจุบัน เราก็จะเข้าใจถึงสินทรัพย์ไฮเทคเหล่านี้ได้ไม่ยาก แถมนี่ยังอาจเป็นช่องทางลงทุนใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและทำได้ง่ายกว่าที่เราคิด
เงินมาจากไหน?
หลายคนคงทราบแล้วว่าการใช้เงินเป็นตัวกลางในการซื้อขายทุกวันนี้พัฒนามาจากระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าในอดีต เริ่มต้นจากการที่ชาวบ้านนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกัน แลกผักเป็นปลา แลกผ้าไหมเป็นข้าวสาร แต่ก็เกิดความไม่สะดวกเมื่อต้องแลกเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหญ่ ๆ หรือจำนวนมาก หรือต้องเปรียบเทียบมูลค่าสิ่งของคนละประเภท แต่ละประเทศจึงพัฒนาระบบเงินตราสกุลเงินของตนเองขึ้นมา เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ
อะไรคือ ‘เงินดิจิทัล’
เมื่อเทคโนโลยีก้าวล้ำขึ้น ข้อมูลทุกอย่างสามารถเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการโดยไม่จำเป็นต้องเขียนบันทึกบนกระดาษเหมือนเมื่อก่อน “มูลค่าเงิน” จึงถูกแปรเป็นข้อมูลดิจิทัลด้วยเช่นกัน โดยยังใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้ตามปกติ โดยมีการพัฒนา ‘เงินดิจิทัลยุคใหม่’ ที่มีความเป็นสากล และมีความยืดหยุ่นในการใช้สอยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้
พูดง่าย ๆ คือการใช้เงินดิจิทัล หรืออาจเรียกได้ว่าสกุลเงินคริปโท (Cryptocurrency) ก็คือวิวัฒนาการของเงินตราในปัจจุบันนั่นเอง เพียงแค่เปลี่ยนจากการถือและใช้จ่ายด้วยเงินสดมาเป็นการถือชุดข้อมูลดิจิทัลที่แสดงมูลค่าของเงินที่เราครอบครอง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการพกพา การโอน การซื้อขาย และอื่น ๆ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่าเงินตราปกติ และเช่นเดียวกับสกุลเงินตราปกติที่มีหลายสกุลเงิน ทั้งบาท ดอลลาร์ หยวน ยูโร ฯลฯ สกุลเงินคริปโทเองก็มีหลายสกุลเงินเช่นเดียวกัน เช่น บิตคอยน์ อีเธอเรียม เป็นต้น
เมื่อสินทรัพย์บนโลกนี้ไม่ได้มีแค่ 'เงิน'
ที่สำคัญ เมื่อพูดถึง “สินทรัพย์” ย่อมไม่ใช่เงินตราเพียงอย่างเดียว หากยังหมายถึงสิ่งที่มีมูลค่าอื่น ๆ ด้วย เช่น หุ้น ตราสารหนี้ พันธบัตร ฯลฯ ซึ่งสามารถใช้ลงทุนให้เกิดดอกผลได้ ดังนั้น สินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบัน จึงไม่ได้มีเฉพาะเงินคริปโทเท่านั้น แต่เรายังสามารถแปลงสินทรัพย์ที่มีมูลค่า เช่น อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม โรงงาน ให้เป็น “โทเคนดิจิทัล (Digital Token)” โดยตามกฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) หลังจากสินทรัพย์ได้ผ่านกระบวนการแปลงเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนและนำออกเสนอขายแล้ว นักลงทุนหรือผู้ซื้อโทเคนจะได้รับสิทธิในส่วนแบ่งรายได้หรือผลกำไรจากธุรกิจหรือโครงการของผู้ออกโทเคน โดยผู้ออกโทเคนจะแจ้งสิทธิและเงื่อนไขตั้งแต่แรกไว้ว่า นักลงทุนจะได้ส่วนแบ่งและผลประโยชน์อะไรบ้างจากการลงทุนซื้อโทเคนชนิดนั้น ๆ โดยผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับจะอ้างอิงจากกระแสรายได้ของสินทรัพย์นั้น ๆ
ยกตัวอย่างที่ใกล้เคียงกัน ในสหรัฐฯ ได้มีการแปลงหุ้น*ส่วนหนึ่งของโรงแรม เดอะ เซนต์ รีจิส แอสเพน รีสอร์ท (The St. Regis Aspen Resort) ในรัฐโคโลราโด ออกเป็นโทเคนชื่อว่า แอสเพนคอยน์ (Aspen Coin) โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จและสามารถระดมทุนได้ถึง 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 550 ล้านบาท) ซึ่งผู้ซื้อโทเคนแอสเพนคอยน์นี้สบายใจได้ว่าตนเองได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ นั่นคือ โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส แอสเพน รีสอร์ท นั่นเอง (* = กฎเกณฑ์ในสหรัฐฯ เปิดให้สามารถนำหุ้นมาแปลงเป็นโทเคนได้ โดยเรียกว่า โทเคนหลักทรัพย์ หรือ Security Token ต่างจากการกำกับดูแลของประเทศไทยในปัจจุบันที่ไม่ถือว่าการออกโทเคนในลักษณะดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ แต่จะเทียบเคียงได้กับโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนตาม พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 แต่ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. กำลังพิจารณาปรับเปลี่ยนกฎหมายในด้านนี้อยู่เช่นกัน)
2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) เป็นโทเคนที่มอบสิทธิประโยชน์หรือโควต้าการใช้บริการต่าง ๆ ให้แก่ผู้ถือครองโทเคน สามารถเปรียบได้กับบัตรกำนัลหรือแต้ม Reward Point ของธุรกิจในปัจจุบัน เช่น หากผู้ถือครองมี 10 โทเคน ผู้ขายโทเคนจะกำหนดไว้ว่าสามารถนำไปแลกสิทธิในการรับก๋วยเตี๋ยว 10 ชาม หรือแลกห้องพักในโรงแรมได้ 1 คืน เป็นต้น ข้อดีของการซื้อโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ก็คือ การล็อกราคาของสินค้าหรือบริการที่เราต้องการจะใช้ในตอนนั้นหรือในอนาคตนั่นเอง
เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลทั้ง “สกุลเงินคริปโท” และ “โทเคนดิจิทัล” ล้วนอยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล จึงจำเป็นต้องถูกจัดเก็บในระบบที่มีความปลอดภัยสูงและป้องกันการเจาะเข้าระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบที่ถูกใช้ในธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลคือ “บล็อกเชน (Blockchain)” ซึ่งมีความมั่นคงปลอดภัยสูงมาก เมื่อบันทึกข้อมูลแล้วจะแก้ไขได้ยากมาก ๆ เพราะมีการกระจายสำเนาเก็บไว้หลาย ๆ ที่เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้รายใดรายหนึ่งเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยทุจริต
เข้าใจการลงทุนใน “สินทรัพย์ดิจิทัล”
วันนี้เราเดินทางเข้าสู่ยุคของการแข่งขันบนโลกดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทุกสิ่งรอบตัว แม้กระทั่ง ‘สินทรัพย์’ ยังถูกพัฒนาอยู่บนโลกดิจิทัล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดใจและปรับตัว ซึ่งไม่ยากอย่างที่คิดเพราะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด แต่เป็นวิวัฒนาการของเงินตราและการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและเปิดโอกาสใหม่ในการลงทุนให้แก่ทุกคนที่สนใจ ซึ่งหากมองถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลลึกลงไปนั้นประกอบไปด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้นักลงทุนได้ประโยชน์สูงสุด เพราะ..
1. เป็นการเปิดโอกาสการลงทุนของเราทุกคนให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แน่นอนว่าการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคตจะง่ายดายขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะง่ายกว่าการซื้อพันธบัตรหรือซื้อขายหุ้น เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถทำผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนในมือทุกคนได้ทันทีที่ต้องการตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอให้ตลาดหุ้นเปิด
2. นักลงทุนเข้าถึงการลงทุนที่หลากหลายและตรงกับความสนใจของตัวเองมากขึ้น เพราะสินทรัพย์ทุกชนิดที่มีมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ โรงงาน สินค้าและบริการ ไปจนถึงผลผลิตทางการเกษตร สามารถถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัลได้ทั้งสิ้น ทำให้นักลงทุนมีโอกาสเข้าถึงการลงทุนที่หลากหลายกว่าตลาดทุนแบบดั้งเดิม
3. นักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังมีเงินไม่มากก็สามารถลงทุนกับโทเคนดิจิทัลได้ เพราะเมื่อสินทรัพย์ถูกย่อยเป็นหน่วยเล็ก ๆ ในรูปแบบโทเคนดิจิทัลที่มีราคาต่อหน่วยไม่สูงมาก จึงเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถมีสิทธิลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงมากๆ ที่ในอดีตอาจเข้าถึงไม่ได้หรือเข้าถึงได้ยาก
สินทรัพย์ดิจิทัลจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นทรัพย์สินรูปแบบใหม่ที่เราควรศึกษาและทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของมัน อีกทั้งตลาดทุนยุคใหม่จะถูกย่อส่วนให้อยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนของทุกคน โดยเฉพาะการลงทุนกับโทเคนดิจิทัล ที่ในไม่ช้า จะทำได้ง่ายไม่ต่างจากการกดซื้อสินค้าออนไลน์เลยทีเดียว
โอกาสเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ใครรู้ก่อน ได้เปรียบ!
บทความโดย อัฏฐ์ ทองใหญ่ อัศวานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SE Digital