CES 2021: Bosch หวังใช้ AI และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ ปกป้องมนุษย์และสิ่งแวดล้อม


ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาสุขภาพของผู้คนและปกป้องโลกของเรา บ๊อชจึงหวังใช้ AIoT เข้ามาช่วยในการเปิดศักยภาพการใช้ข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไอโอที (internet of things) ให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยมีโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย “เราผนึก AI เข้ากับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ ออกมาเป็น AIoT ที่ช่วยเราพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานและรับมือกับไวรัสโคโรน่า” ดร.ไมเคิล โบลเล่ กรรมการบริหารของบ๊อชกล่าว “AIoT มีศักยภาพอีกมากมาย ซึ่งเราพร้อมปลดล็อกศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ และจะเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่องในอนาคต” ทั้งนี้ บ๊อชจะนำเสนอโซลูชั่นอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพ การใช้ชีวิต และเทคโนโลยีการขับเคลื่อนในงานแสดงเทคโนโลยี CES 2021 ที่จัดผ่านระบบออนไลน์

หนึ่งในนวัตกรรมของบ๊อชที่เปิดตัวในงานนี้ คือ เซ็นเซอร์ AI ที่เรียนรู้ได้เอง ครั้งแรกของโลก พร้อมรองรับการนำไปใช้ในอุปกรณ์แวร์เอเบิลและเฮียร์เอเบิล (อุปกรณ์ไอทีสำหรับใส่ในหู) เพื่อติดตามกิจกรรมฟิตเนส เนื่องจาก AI ทำงานด้วยตัวเซ็นเซอร์ (edge AI) จึงไม่จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในช่วงที่ออกกำลังกาย ส่งผลให้ประหยัดพลังงานและรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล นอกจากนี้ บ๊อชยังนำเซ็นเซอร์ที่สามารถวัดค่าปัจจัยต่างๆ เช่น คุณภาพอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ มาแสดงอีกด้วย อุปกรณ์เหล่านี้ ทำให้สามารถเก็บข้อมูลการกระจุกตัวของละอองลอยในอากาศ ซึ่งสำคัญยิ่งในช่วงที่ต้องรับมือกับไวรัสโคโรน่า นอกจากนี้ กล้องวงจรปิดของบ๊อชยังสามารถช่วยรับมือกับไวรัสได้ โดยการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาประยุกต์ใช้ได้หลายด้านตามที่ลูกค้าต้องการ เช่น การวัดค่าอุณหภูมิโดยไม่ต้องสัมผัส ไม่เปิดเผยตัวตน และให้ความแม่นยำสูง มีค่าความเบี่ยงเบนไม่เกินครึ่งองศา

นอกจากนี้ ยังมีโซลูชั่นซอฟต์แวร์สำหรับแพลตฟอร์มเปิดของกล้องวงจรปิด ผลงานของสตาร์ตอัพของบ๊อช คือ Security and Safety Things ที่สามารถตรวจจับได้ว่าจำนวนคนในร้านสอดคล้องกับเกณฑ์ปฏิบัติในการเฝ้าระวังไวรัสโคโรน่าหรือไม่ แพลตฟอร์มนี้ยังได้รับรางวัล 2021 CES® Innovation Award Honoree นับเป็นหนึ่งในสี่โซลูชั่นของบ๊อชที่โดดเด่นจนได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในปีนี้

อีกนวัตกรรมหนึ่งที่เปิดตัวครั้งแรกในโลกที่งานนี้ คือ เครื่องตรวจฮีโมโกลบินเคลื่อนที่ สามารถตรวจภาวะโลหิตจางได้โดยการสแกนนิ้ว อุปกรณ์นี้จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปใช้ในภูมิภาคที่การแพทย์ยังเข้าถึงได้ไม่ครอบคลุม เครื่องตรวจฮีโมโกลบินนี้ มี AI ทำงานร่วมด้วย จึงสามารถแสดงผลได้อย่างรวดเร็วภายใน 30 วินาที โดยไม่จำเป็นต้องทดสอบในห้องทดลองหรือเจาะเลือด

ตอนนี้ ตัวอย่างที่ดีที่สุดที่จะแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีของบ๊อชเข้ามาช่วยพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตได้อย่างไร คงจะเป็นชุดตรวจไวรัสโคโรน่าแบบ PCR ซึ่งเป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส โดยทำงานบนอุปกรณ์วิเคราะห์ที่เรียกว่า Vivalytic ชุดตรวจนี้ ให้ผลลัพธ์ออกมาได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งห้องทดลอง สำนักงานแพทย์ บ้านพักคนชรา และโรงพยาบาลต่างๆ สามารถนำไปตรวจ 5 ตัวอย่างพร้อมกัน และได้ผลออกมาใน 39 นาที เป็น “เทคโนโลยีเพื่อชีวิต” อย่างแท้จริง ซึ่งความก้าวหน้าของซอฟต์แวร์ยังช่วยให้สามารถตรวจตัวอย่างที่เป็นบวกออกมาได้ในเวลาไม่ถึง 30 นาที การพัฒนาระบบ Vivalytic นี้ ประกอบไปด้วยอุปกรณ์วิเคราะห์ผลและถาดใส่ตัวอย่าง เป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่างฝ่ายวิจัยและวิศวกรรมของบ๊อช หน่วยธุรกิจ Bosch Healthcare Solutions และ Robert Bosch Hospital 

Sustainable #LikeABosch: บ๊อชยืนหนึ่งในการเป็นผู้นำแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ที่เยอรมนี ระบุว่า AIoT สามารถทำได้มากกว่าด้านสุขภาพ โดยนำไปใช้รับมือกับสภาพภูมิอากาศได้ด้วย โดยงานวิจัยพบว่า การใช้ดิจิทัลในหลายส่วนของระบบขับเคลื่อน การผลิต และเทคโนโลยีอาคาร จะช่วยให้ประเทศพัฒนาไปเกือบครึ่งทางของเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซตามข้อตกลงปารีส (ที่มา: Accenture)

แนวทางที่บ๊อชมุ่งมั่นจึงกลายเป็นสโลแกนสำหรับงาน CES ในปีนี้ คือ Sustainable #LikeABosch เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบในฐานะองค์กร ชุดภาพจากแคมเปญ #LikeABosch แสดงให้เห็นว่า ทุกๆ คนสามารถมีบทบาทในการปกป้องสิ่งแวดล้อมได้โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน ซึ่งบ๊อชก็ได้ทำเป็นตัวอย่าง เพราะจากการคำนวณแล้ว สำนักงานทั้ง 400 แห่งทั่วโลกของบ๊อช สามารถบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ตั้งแต่ปีค.ศ. 2020 จึงนับว่าบ๊อชเป็นองค์กรอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลกที่ทำให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (net zero carbon emissions) ได้ ในแง่ของพลังงานที่ผลิตและจัดหามาจากภายนอก “ก้าวต่อไปของบ๊อช คือ การจัดการกับการปล่อยมลพิษตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การจัดซื้อไปจนถึงการใช้ผลิตภัณฑ์” ดร.โบลเล่กล่าว เมื่อเป็นเช่นนั้น บ๊อชจึงก้าวขึ้นเป็นซัพพลายเออร์แห่งแรกในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เข้าร่วมโครงการ Science Based Targets โดยมีเป้าหมายที่เจาะจงและท้าทายยิ่ง คือ ภายในปีค.ศ. 2030 บ๊อชตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำให้ได้ร้อยละ 15 ความสำเร็จของบ๊อชในการจัดการกับภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานภายนอก องค์กรไม่หวังผลกำไรด้านการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอน (CDP) ได้จัดบ๊อชอยู่ในระดับเอลิสต์เลยทีเดียว

“ในปีค.ศ. 2021 เราจะเดินหน้าต่อไปในการทำให้เทคโนโลยีมีความยั่งยืนมากขึ้น ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคนั้น คนจะใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น จะได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีอันชาญฉลาด เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน รวมทั้งมีส่วนช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศด้วย ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโรคได้เร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลเร็วขึ้น ซึ่งบ๊อชได้ใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยให้องค์กรสามารถก้างข้ามอุปสรรค และสร้างโอกาสใหม่ๆ ในปีค.ศ. 2021 ด้วย” โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย กล่าว
 
บ๊อชได้แบ่งปันประสบการณ์การบุกเบิกเรื่องรับมือกับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับองค์กรต่างๆ ผ่านกิจการที่ปรึกษา Bosch Climate Solutions ที่ก่อตั้งในปีที่ผ่านมา อีกทั้งมีกิจการสตาร์ตอัพในเครือที่ได้ทำตลาดโซลูชั่นหลายตัว ทั้งแพลตฟอร์มพลังงานบนคลาวด์ ที่ใช้อัลกอริทึมอัจฉริยะช่วยลดการใช้พลังงานของเครื่องจักร ส่งผลให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น บ๊อชได้นำแพลตฟอร์มนี้ไปใช้กับที่ทำการมากกว่า 100 แห่งแล้ว จึงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้มาก และเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้
 
ดิจิทัลและความยั่งยืน คือหนทางแห่งอนาคต: ก้าวสู่แนวหน้าด้วย AI ในภาคอุตสาหกรรม

ตัวอย่างดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถปูทางสู่ความยั่งยืนได้ “เราต้องการเป็นองค์กรชั้นแนวหน้าด้าน AIoT ในทุกๆ ด้านที่เราดำเนินธุรกิจ” ดร.โบลเล่อธิบาย ซึ่งความไว้ใจใน AI เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องสร้างให้ได้เป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะนำ AI ไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตและช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น บ๊อชจึงหวังใช้ AI ในภาคอุตสาหกรรม ในการทำหน้าที่อธิบายโลกที่เป็นอยู่ให้เครื่องจักรได้เรียนรู้ แทนที่จะสอนระบบให้ทำเสมือนคน อย่างไรก็ดี การจะทำเช่นนี้ได้ จะต้องมีแนวทางด้านจริยธรรม บ๊อชจึงวางหลักจริยธรรมในการใช้ AI ที่มาจากฐานแนวคิดว่าคนต้องอยู่เหนือการควบคุมของ AI

นอกจากจะยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคการผลิตแล้ว บ๊อชยังวางระบบเพิ่มการเชื่อมต่อเข้าไปในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาคารและการขับเคลื่อน ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดพลังงานได้ หนึ่งในผลิตภัณฑ์เหล่านั้น คือ เครื่องมือจัดการพลังงาน ที่บริษัทแนะนำให้ใช้ในบ้าน ที่เมื่อใช้ร่วมกับปั๊มความร้อนและระบบพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว อุปกรณ์นี้จะสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 60 ในด้านการขับเคลื่อน คนขับรถไฟฟ้าก็จะได้ประโยชน์จากบริการ เช่น แบตเตอรี่ระบบคลาวด์ (Battery in the Cloud) ที่ใช้ซอฟต์แวร์อัจฉริยะเข้ามาวิเคราะห์และลดการเสื่อมของแบตเตอรี่ได้ถึงร้อยละ 20

โดยทั่วไปแล้ว การประสานการทำงานของระบบขับขี่อัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เข้ากับบริการส่วนบุคคลที่เชื่อมต่อกัน จะเปิดโอกาสให้มีการใช้แอปพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ในอีกหลายส่วนมาก คอมพิวเตอร์ยานยนต์คือแกนหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีของบ๊อช เพื่อขยายฐานความเป็นผู้นำไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานผ่านซอฟต์แวร์ บ๊อชจึงจัดตั้งสายงานใหม่ขึ้นมา คือ Cross-Domain Computing Systems โดยมีพนักงาน 17,000 คนเริ่มทำงานในสายงานนี้ตั้งแต่ต้นปี เป็นการรวมความเชี่ยวชาญทั้งด้านสถาปัตยกรรมฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ สำหรับคอมพิวเตอร์ยานยนต์ เซ็นเซอร์ และหน่วยควบคุมระบบยานยนต์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ช่วยลดความซับซ้อนในการพัฒนายานยนต์ และพัฒนาฟังก์ชั่นใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น

นำความเชี่ยวชาญเสริมศักยภาพการสำรวจดวงจันทร์: ตั้งเป้าสูงกับเทคโนโลยี AI ของบ๊อช

วิทยาการที่ก้าวล้ำจากท้องถนนไปสู่ห้วงอวกาศ: ในงาน CES ปีที่แล้ว มีการเปิดตัวระบบเซ็นเซอร์ SoundSee ที่ทำงานด้วย AI สถานีอวกาศนานาชาติ มาปีนี้ บ๊อชมองไกลไปถึงดวงจันทร์ โดยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Tipping Point ขององค์การนาซ่า ทำงานร่วมกับหลายองค์กร ทั้ง Astrobotic และ WiBotic รวมถึง University of Washington ในการวิจัยและพัฒนาระบบนำทางอัจฉริยะและระบบชาร์จพลังงานของหุ่นยนต์จิ๋วที่ปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ นักวิจัยของบ๊อชที่ร่วมทำงานโครงการนี้ในเมืองพิตส์เบิร์กและซิลิคอนวัลเล่ย์ ได้นำความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI และโซลูชั่นการเชื่อมต่อไร้สาย ร่วมพัฒนานวัตกรรมกับทีมงาน ผลที่ได้กลับมาจะเป็นการต่อยอดศักยภาพให้แก่โซลูชั่น AIoT ของบ๊อชบนพื้นผิวโลก
 
ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า AIoT มีศักยภาพเพียงใด และแสดงให้เห็นด้วยว่าเทคโนโลยีนี้ จะมีบทบาทหลักในการสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร “ทุกวันนี้ มีเพียงบริษัทที่มุ่งสู่ความยั่งยืนเท่านั้นที่จะสามารถเปิดศักยภาพอันมหาศาลของ AIoT ออกมาใช้ ซึ่งจะกรุยทางไปสู่ความสำเร็จในวันพรุ่งนี้ได้” ดร.โบลเล่ กล่าว
ใหม่กว่า เก่ากว่า