บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไอโอทีซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิ์การให้บริการโครงข่าย ซิกฟอกส์ (Sigfox) ของ 3 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บริษัท ติงส์ ออน เน็ต จำกัด บริษัท ยูนาบิส จำกัด และ บริษัท เอ็กซ์เพอแรนติ ผนึกกำลังเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการซัพพลายเชนด้านขนส่งระหว่างประเทศระบบ Asset Tracking Management ซึ่งเป็นกระบวนการติดตามทรัพย์สินระหว่างเส้นทางขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย
การเสวนา Webinar ทางออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้หัวข้อ “Cross-Border Land Cargo – เจาะลึกกลยุทธ์ การขนส่งสินค้าทางบกไร้พรมแดน” ได้ยกตัวอย่างระบบโซลูชันที่สามารถติดตามทรัพย์สินโดยใช้โครงข่าย 0G เทคโนโลยีระดับโลกจากซิกฟอกส์ และชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนและการเชื่อมโยงระบบซัพพลายเชนระหว่างประเทศแบบไร้พรมแดนที่ได้รับผลกระทบหยุดชะงักจากวิกฤตโควิด-19
การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การเติบโตของตลาดผู้บริโภคและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลดีต่อธุรกิจการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนในภูมิภาคจากการขนส่งทางบกมีความรวดเร็วมากกว่าการขนส่งทางทะเล เนื่องจากใช้ระยะเวลาการขนส่งที่สั้นกว่า และถูกกว่าการขนส่งทางอากาศ
นายปวิณ วรพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ติงส์ ออน เน็ต จำกัด ประเทศไทย กล่าวว่า “การค้าข้ามพรมแดนระหว่างประเทศไทย - มาเลเซีย – สิงคโปร์ เป็นหนึ่งเส้นทางที่ได้รับความนิยมที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ปัจจุบันปริมาณการขนส่งทางบกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งหมด โดยมีปัจจัยเรื่องระยะเวลาขนส่งและความคล่องตัวเป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ช่องทางการขนส่งสินค้าทางบกถูกยกให้เป็นช่องทางยอดนิยมของผู้ประกอบการกลุ่ม FMCG (Fast Moving Consumer Goods) นอกจากนี้ การจัดตารางเวลาสำหรับการขนส่ง ความยืดหยุ่นของเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และความสามารถที่จะจัดส่งสินค้าได้แบบ door-to-door ที่รวดเร็ว จึงทำให้การขนส่งทางบกสามารถดำเนินการได้ตลอดเวลา”
ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ต่อภาคอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์
โควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ส่งผลให้กฎระเบียบด้านศุลกากรและการควบคุมชายแดนมีความเข้มงวดขึ้น และสร้างความท้าทายอย่างมากต่อบริษัทโลจิสติกส์ทั่วโลก โดยพบว่าปริมาณการขนส่งสินค้าทางบกลดลงอย่างน้อย 30% อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปิดกั้นพรมแดนสิงคโปร์และมาเลเซียเพื่อต่อสู้กับการแพร่กระจายของไวรัส โคโรนา แต่การขนส่งสินค้ารวมถึงอาหาร และเวชภัณฑ์ระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ยังคงไม่หยุดชะงัก
จากผลพวงของโควิด-19 บางประเทศได้เริ่มใช้มาตรการเพื่อเร่งการเดินหน้าเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศความคิดริเริ่มในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันใหม่ เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลที่เปิดกว้างและเชื่อถือได้ในระบบนิเวศห่วงโซ่อุปทานที่กระจัดกระจาย ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้งจากภาครัฐและเอกชน โครงการริเริ่มใหม่นี้พยายามที่จะเชื่อมต่อแพลตฟอร์มข้อมูลที่มีอยู่ของผู้นำเข้าและผู้ส่งออก บริษัทขนส่ง และสถาบันการเงิน เพื่อช่วยลดการพึ่งพาเอกสาร ป้องกันกรณีการฉ้อโกง รวมถึงผลประโยชน์อื่น ๆ
"ขณะที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานด้านโลจิสติกส์จำเป็นต้องเร่งสร้างระบบดิจิทัลเพื่อป้องกันปัญหาอุปสรรคและเพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเอง ซึ่งเครือข่าย Sigfox 0G ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับความท้าทายหลักสี่ประการของระบบดิจิทัลในซัพพลายเชน ได้แก่ มีต้นทุนในการเก็บและรวบรวมข้อมูลต่อข้อความที่ต่ำที่สุด แบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 11 ปีโดยไม่ต้องชาร์จ ติดตั้งและบำรุงรักษาง่าย และมีประสิทธิภาพในการรองรับการใช้งานของโซลูชันเดียวกัน ในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ภายใต้สัญญารับบริการจากผู้ให้บริการเครือข่ายในพื้นที่ของตน เมื่อสินค้าของคุณเคลื่อนผ่านข้ามพรมแดนก็สามารถเชื่อมต่อกับระบบได้ทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องหรือสลับสัญญาณเครือข่ายให้ยุ่งยาก” โจนาธาน ตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนาบิส จำกัด ประเทศสิงคโปร์ กล่าว
”เราใช้ประโยชน์จากโซลูชันเครือข่ายน้ำหนักเบาซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของ Sigfox โดยทำงานร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเพื่อเสริมโปรโตคอลแบนด์วิดท์สูงที่มีอยู่ เช่น 4G และ 5G เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เขากล่าวเสริม
การเชื่อมโยงระบบซัพพลายเชนระหว่างประเทศแบบไร้พรมแดน
ระบบติดตามแบบ GSM เป็นระบบที่ใช้กันทั่วไป แต่ยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาด้านการติดตามสินค้าเมื่อต้องขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนเนื่องจากข้อจำกัดของรถบรรทุกสินค้า ในสหภาพยุโรปรถบรรทุกสามารถข้ามพรมแดนได้ง่าย ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศใดประเทศหนึ่งจะไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศอื่นๆ ตัวอย่างเช่น รถบรรทุกของมาเลเซียไม่สามารถเข้าประเทศไทยได้ เช่นเดียวกับที่รถบรรทุกของไทยไม่สามารถเข้ามาเลเซียได้ ส่งผลให้แม้บริษัทขนส่งสินค้าจะยินดีจ่ายค่าบริการ โรมมิ่งเพื่อติดตามยานพาหนะของตน แต่อุปกรณ์ติดตามการโรมมิ่งจำเป็นต้องติดตั้งในระดับจุลภาคของตู้คอนเทนเนอร์ พาเลท หรือกล่องบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากสินค้าจะต้องถูกเปลี่ยนถ่ายไปสู่รถบรรทุกที่สามารถวิ่งในประเทศนั้นๆ ได้ ณ ด่านตรวจชายแดน
วิคส์ คานากะซิงงาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็กซ์เพอแรนติ ประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่า ลูกค้าของบริษัทซึ่งเป็นบริษัท โลจิสติกส์ขนาดใหญ่ในมาเลเซียต้องเผชิญกับความท้าทายในการติดตามยานพาหนะทั้งหมดของบริษัทว่าอยู่ที่ไหนในเวลาใดเวลาหนึ่ง จากเดิมลูกค้าของเราต้องเพิ่มความพร้อมด้านทรัพย์สินในการขนส่ง เช่น รถพ่วงและตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากเพื่อให้สามารถรองรับงานบริการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยการใช้โซลูชัน โลจิสติกส์อัจฉริยะของเราบนเครือข่าย Sigfox IoT ได้ช่วยให้ลูกค้าสามารถเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการใช้งานสินทรัพย์ที่มีอยู่ส่งผลให้ลดเวลารอได้ถึง 80% ก่อนที่จะเข้ารับสินค้า"
นอกเหนือจากการติดตามสินค้าแล้ว เครือข่าย Sigfox ยังรองรับเซ็นเซอร์ประหยัดต้นทุนพลังงานต่ำอื่นๆ ด้วย เช่น อุณหภูมิและความชื้น ซึ่งเป็นส่วนเสริมในการติดตามทรัพย์สินในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงยา โดยใช้การตรวจติดตามผลของระบบความเย็น
เฮเฟอิซ ฮาซัน ตัวแทนซิกฟอกส์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิงกูลาริตี้ แอร์โรเทค เอเชีย (Singularity Aerotech Asia) อธิบายเพิ่มเติมว่า “สำหรับเราในฐานะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี Sigfox สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ความเรียบง่ายและราคาโซลูชันที่จับต้องได้ ขณะเดียวกันยังเป็นผู้ให้บริการโซลูชันแบบ end-to-end ซึ่งมีความโดดเด่น คือ สามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าของเราโดยใช้เทคโนโลยีที่ตลาดสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว”