สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) และผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ ประกาศความร่วมมือในการใช้ ‘มาตรฐานการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์’ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best-Practice) สำหรับผู้ค้าออนไลน์ โดยการนำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้นั้น สมาคมฯ ได้เรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณายกเลิกการห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 โดย TABBA ชี้ว่า นอกจากการห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์อย่างสิ้นเชิงจะไม่สามารถป้องกันการดื่มก่อนวัยอันควร ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย (ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคระบาดอยู่แล้ว) แต่ยังขัดกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการจะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกด้วย ดังนั้น ทางสมาคมฯ จึงได้จัดทำมาตรฐานดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นแนวทางกำกับควบคุมภาคธุรกิจโดยภาคธุรกิจเอง อีกทั้งเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ค้าปลีกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์จะปฏิบัติตามมาตรฐานเพื่อป้องกันการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนผ่านช่องทางออนไลน์
มาตรฐานการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสมาชิก TABBA และผู้ค้าปลีกออนไลน์อย่าง Liq9.asia และ Wine-Now.asia แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจมีมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่จับต้องได้สำหรับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉพาะต่อบุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เท่านั้น ไม่เป็นการส่งเสริมให้เกิดปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตรายไม่ว่าจะในลักษณะใดก็ตาม พร้อมส่งเสริมจรรยาบรรณในการทำธุรกิจและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่มีต่อสังคม โดยร่างมาตรฐานนี้จัดทำขึ้นจากการศึกษาแนวทางและมาตรฐานการปฏิบัติของนานาชาติ เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจำหน่ายแอลกอฮอล์ออนไลน์อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติของผู้ซื้อและผู้ขาย การจัดส่ง คุณลักษณะของผู้รับสินค้า สถานที่จัดส่ง การตรวจสอบและได้มาซึ่งข้อมูล และการฝึกอบรม
ตัวแทนจากสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวว่า “สถานการณ์โรคระบาดได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากผับ บาร์ และร้านอาหารต่างๆ ต้องชะลอการให้บริการในช่วงล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้ และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในปัจจุบัน การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์จะยิ่งสร้างความยากลำบากให้กับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม ส่งผลเสียต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจไทยในภาพรวมเพื่อพลิกฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นอกจากนี้ การตัดสินใจห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ยังไม่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งยังไม่เป็นไปตามกลไกตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งเปลี่ยนไปมองหาสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น การห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ออนไลน์จะยิ่งเป็นการทำร้ายธุรกิจที่พยายามเอาตัวรอดจากผลกระทบของวิกฤติโรคระบาดและการล็อกดาวน์ ทั้งๆ ที่การซื้อขายออนไลน์จะยิ่งเป็นผลดีในสถานการณ์ที่ประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเสียด้วยซ้ำ ภาครัฐจึงควรพูดคุยกับภาคธุรกิจและพิจารณาร่วมมือกับผู้ค้าต่างๆ เพื่อแสวงหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อกำกับดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์”
ตัวแทนผู้ประกอบการจาก Liq9.asia และ WineNow.asia ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ กล่าวว่า “ธุรกิจของเราอยู่บนพื้นที่ออนไลน์ทั้งหมด เพราะเราต้องการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาบริการและประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์ การห้ามจำหน่ายในลักษณะเหมารวมเช่นนีเป็นการซ้ำเติมธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด บังคับให้ธุรกิจของเราต้องปิดตัวลง ต้องเลิกจ้างงาน และการลงทุนที่ผ่านมาของเราติดลบทันที จึงขอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกประกาศการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์และหันมาคุยกับภาคธุรกิจเพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในควบคุมการขายออนไลน์ สร้างสมดุลระหว่างการทำธุรกิจและการดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำธุรกิจสุจริตสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถป้องกันการเข้าถึงของเยาวชน และการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับวัน เวลาห้ามขาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาสินค้าหนีภาษีและสินค้าปลอมซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคและทำให้รัฐเสียรายได้จากภาษี”
การห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ออนไลน์จะส่งผลเสียหลายด้าน เช่น ธุรกิจรายย่อยอาจต้องปิดตัว ส่งผลให้เกิดการผูกขาด และการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ของธุรกิจที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิต ในขณะที่ผู้บริโภคอาจจะหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากแหล่งที่ผิดกฎหมายซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งทำให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขาดโอกาสในการปรับตัวทางธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบัน
“เหตุผลหลักที่รัฐห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ คือ เพื่อป้องกันการเข้าถึงของเยาวชน แต่ดูเหมือนมาตรการที่สุดโต่งเช่นนี้ไม่ได้มุ่งควบคุมดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ แต่เป็นการกำจัดการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด ในความเป็นจริงเยาวชนยังคงซื้อหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากช่องทางออฟไลน์ได้ ในขณะที่การซื้อขายออนไลน์ ข้อมูลของผู้ซื้อ การชำระเงิน และการจัดส่ง สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทั้งหมด ดังนั้นปัญหาที่แท้จริงจึงไม่ใช่การจำหน่ายแอลกอฮอล์ออนไลน์ แต่เป็นประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วเพื่อป้องกันการดื่มก่อนวัยอันควรและการดื่มอย่างเป็นอันตราย” ตัวแทนจาก TABBA กล่าวสรุป