บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ขยายผลโครงการ Samsung Innovation Campus จัด One-day Coding Camp ค่ายเรียนโค้ดดิ้งออนไลน์หนึ่งวันเต็ม เพื่อเป็นก้าวแรกสู่โลกโค้ดดิ้ง พร้อมเปิดประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับเยาวชนไทย ผ่านกิจกรรมรูปแบบ Unplugged และ Hands-on โดยมีเด็กและครูที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมรวม 220 คน
นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า “ซัมซุงมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพเด็กไทยให้มีความพร้อมทางทักษะแห่งอนาคต โดยเฉพาะในด้านดิจิทัลซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโลกอนาคต ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมของซัมซุงทั่วโลก สำหรับค่าย Samsung Innovation Campus – One-day Coding Camp ในรูปแบบออนไลน์ครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่พาเด็กๆ เข้าสู่โลกของโค้ดผ่านกิจกรรมที่สนุกและท้าทาย ผสมผสานทั้งรูปแบบที่ฝึกคิดไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ (Unplugged) และลงมือปฏิบัติ (Hands-on) เพื่อช่วยจุดประกายความสนใจและเป็นก้าวแรกให้ทุกคนได้เรียนรู้พื้นฐานของโค้ดดิ้งอย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักกับ Abstraction ฝึกเขียน Flowchart และเรียนรู้การเขียนโค้ดเบื้องต้นของภาษาไพธอน (Python) ซึ่งเป็นภาษาโปรแกรมที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ของโลก นอกจากนี้ คุณครูที่เข้าร่วมกิจกรรมยังสามารถนำกระบวนการไปปรับใช้และขยายผลในชั้นเรียนของตนเอง เพื่อปูทางให้เด็กๆ เห็นว่าการเรียนโค้ดดิ้งเป็นเรื่องง่ายและสนุก”
ทั้งนี้ ค่าย One-day Coding Camp เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ Samsung Innovation Campus โครงการเพื่อสังคมของบริษัท ไทยซัมซุง อิเล็คโทรนิคส์ จำกัด ที่มีจุดประสงค์ในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับเยาวชนไทย ผ่านการเรียนรู้โค้ดดิ้งและการเขียนโปรแกรมขั้นพื้นฐานซึ่งสอดคล้องกับการเรียนการสอนในหลักสูตรวิชาวิทยาการคำนวณของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา โดยในทุกปีซัมซุงจะจัดการอบรมการเขียนโปรแกรมขั้นพื้นฐาน ระยะเวลาประมาณ 1.5 เดือน ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักภายใต้โครงการ Samsung Innovation Campus และในปีนี้ ซัมซุงได้พัฒนาค่าย One-day Coding Camp เพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนและโรงเรียน ที่ต้องการกิจกรรมเสริมด้านพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเนื้อหาด้านโค้ดดิ้ง และยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เยาวชนได้เปิดประสบการณ์ก้าวแรกสู่โลกของการเขียนโปรแกรม เพื่อวางแผนการเรียนโค้ดดิ้งในระดับที่สูงขึ้นต่อไป โดยหลักสูตรในค่ายประกอบด้วย 3 เนื้อหาสำคัญ ได้แก่ 1) การคิดเชิงนามธรรม (Abstraction) เพื่อเสริมความเข้าใจ และนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน 2) ฝึกการคิดแบบเป็นระบบด้วยการออกแบบ Flowchart และ 3) ฝึกเขียนภาษาไพธอน (Python) โดยนักเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับไวยากรณ์เบื้องต้นของภาษาไพธอน และสร้างสรรค์ผลงานคอมพิวเตอร์กราฟฟิกจากการเขียนโค้ดด้วยตนเอง พร้อมรับฟังประสบการณ์การเรียนและอาชีพสายโค้ดจากรุ่นพี่ศิษย์เก่าโครงการ Samsung Innovation Campus สำหรับรูปแบบของค่าย Coding Camp ในครั้งนี้ ทางโครงการฯ ได้จัดให้มีการถ่ายทอดสดเนื้อหาและทำกิจกรรมจากศูนย์ปฎิบัติการของโครงการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ไปสู่โรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมจากภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีโดยมีทีมวิทยากรและพี่เลี้ยงที่คอยให้คำปรึกษาตลอดกิจกรรม
ค่าย Samsung Innovation Campus – One-day Coding Camp ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก และได้มีการคัดเลือกโรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม 10 โรงจากโรงเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 139 โรงเรียนทั่วประเทศ ได้แก่ โรงเรียนท่าเรือพิทยาคม จ.กาญจนบุรี โรงเรียนบ้านเกาะเปาะ จ.ปัตตานี โรงเรียนพนมไพรวิทยาคาร จ.ร้อยเอ็ด โรงเรียนราชวินิตบางแคปานขำ กรุงเทพฯ โรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา จ.เชียงใหม่ โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา กรุงเทพฯ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ลพบุรี จ.ลพบุรี โรงเรียนวัดใหญ่ชัยมงคล (ภาวนารังสี) จ.อยุธยา โรงเรียนสุคนธีรวิทย์ จ.นครปฐม และโรงเรียนสุคิรินวิทยา จ.นราธิวาส โดยมีนักเรียนและครูเข้าร่วมกิจกรรมรวม 220 คน
เด็กชายชิดธวัช นาคปัด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดใหญ่ชัยมงคล(ภาวนารังสี) กล่าวว่า “ค่ายนี้เป็นเหมือนโอกาสที่จุดประกายให้พวกเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทำให้ได้ทั้งประสบการณ์และความรู้มากมาย การเรียนโค้ดดิ้งในรูปแบบออนไลน์แบบนี้ทำให้การเขียนโปรแกรมน่าสนใจและสนุกมากขึ้น อยากให้ซัมซุงทำค่ายนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้ค้นหาตัวเองผ่านกิจกรรมและบททดสอบต่างๆ ในค่าย”
นายธนา บุญชู อาจารย์กลุ่มสาระการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนสุคนธีรวิทย์ กล่าวว่า “ค่ายโค้ดดิ้งจากทางซัมซุงไม่เพียงแต่ช่วยจุดประกายให้กับเด็กๆ เกี่ยวกับโลกของการโค้ดดิ้ง แต่ยังช่วยเปิดมุมมองและเทคนิคใหม่ๆ ให้กับคุณครูในการนำรูปแบบการเรียนการสอนและกิจกรรมที่น่าสนใจจากค่ายไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียน สิ่งที่เด็กๆ ได้รับจากค่ายนี้ คือทัศนคติต่อการเรียนโค้ดดิ้งที่เปลี่ยนไป จากที่มองว่าการโค้ดดิ้งเป็นเรื่องที่ยากและไม่สนุก แต่เมื่อร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เด็กๆ ก็ได้มีโอกาสสัมผัสกับด้านใหม่ๆ ของโลกโค้ดดิ้ง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานความคิดที่สำคัญในการศึกษาทักษะดิจิทัลอื่นๆ ต่อไปในอนาคต”
นายวาริท กล่าวเสริมด้วยว่า “โครงการ Samsung Innovation Campus ได้เป็นส่วนสำคัญในการจุดประกายความสนใจในด้านโค้ดดิ้งและเสริมความเข้าใจในเนื้อหาวิชาวิทยาการคำนวณแก่นักเรียน อีกทั้งยังช่วยให้ครูสามารถนำกระบวนการสอนและเนื้อหาจากกิจกรรมต่างๆ ไปปรับใช้กับห้องเรียนในอนาคตเพื่อให้นักเรียนได้รับประโยชน์สูงสุด ค่ายโค้ดดิ้งนี้จึงเป็นโอกาสและจุดเริ่มต้นให้แก่เยาวชนไทยในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคตเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นประเทศดิจิทัล ตามนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของซัมซุงในการมุ่งสร้างพลังคน มุ่งสร้างอนาคตที่ดีร่วมกัน (Together for Tomorrow! Enabling People)”
นอกจากค่าย One-day Coding Camp ในครั้งนี้แล้ว ในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ ซัมซุงเตรียมเปิดรับสมัครนักเรียนระดับมัธยมต้นที่สนใจด้านการเขียนโปรแกรม เพื่อเข้าร่วมการอบรมโค้ดดิ้งออนไลน์เต็มรูปแบบในช่วงปิดภาคการศึกษา นักเรียนที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารการรับสมัครได้ที่เฟสบุ้ค Samsung Innovation Campus TH หรือ www.facebook.com/samsungsicth