Huawei ชี้ ศูนย์กลางความเป็นเลิศ 4 ด้านสำคัญ พาไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิจทัลของภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มตัวพร้อมกับการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล


การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลหรือ “Digital Transformation” ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในขณะนี้ ในฐานะเทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่จะนำพาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปสู่อนาคตของการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว จะต้องมีการพัฒนาในหลาย ๆ ส่วนสำคัญเพื่อที่จะเข้าถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ ภายในงาน Powering Digital Thailand 2021: Huawei Cloud & Connect นายวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคพร้อมมุ่งสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการนำโซลูชันและเทคโนโลยีเข้าไปยกระดับอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจดั้งเดิม ทั้งนี้ กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลที่จะช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น ประกอบด้วย การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศ 4 ด้าน ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนี้

ศูนย์กลางความเป็นเลิศ 4 ด้านสำคัญที่จะพาไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล

นายวรกานกล่าวถึง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเป็นเลิศของการเป็นศูนย์กลางทางศักยภาพ 4 ด้าน ที่จะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ไว้ว่า ด้านที่ 1 คือความเป็นเลิศด้านการเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่อที่มีความรวดเร็วสูงและมีเสถียรภาพ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในด้านการเป็นผู้นำของโครงข่าย 5G ในภูมิภาค รวมถึงโครงข่ายไฟเบอร์บรอดแบนด์ความเร็วสูงทั่วประเทศ จะเป็นโครงข่ายสำคัญในการเชื่อมต่อการสื่อสารและข้อมูลต่างๆ ด้านที่ 2 คือการเป็นศูนย์กลางของศูนย์ข้อมูลของภูมิภาค (Data Center Hub) ซึ่งหัวเว่ยได้มีการสร้าง Data Center ในประเทศไทย เพื่อให้องค์กรต่างๆในประเทศไทย มีโอกาสเข้าถึงการใช้งานของระบบคลาวด์ได้มากขึ้น ผลักดันองค์กรเผื่อเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล รวมถึงการดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติ เลือกเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและใช้ Data Center ในประเทศไทยมากขึ้น เข้าสู่ศักยภาพที่สำคัญด้านที่ 3 คือ การเป็นศูนย์กลางของดิจิทัลอีโคซิสเต็ม ประเทศไทยมีพื้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมเช่น EEC รวมถึง การมีศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน 5G โดยเฉพาะ เช่น 5G EIC (Ecosystem Innovation Center) ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมและศักยภาพในการพัฒนาโซลูชั่นของพาร์ทเนอร์และ System Integrator ในประเทศไทย และนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆได้มากขึ้น ดังเช่นที่ได้เริ่มทำในด้าน สาธารณสุข และเกษตรกรรม ในปีที่ผ่านมา ด้านที่ 4 คือศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางของบุคคลากรด้านดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนของบุคคลากรด้านดิจิทัลและอุตสาหรรมใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นสิ่งสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น เมื่อประเทศไทยมีจำนวนบุคคลากรด้านดิจิทัลเป็นจำนวนมากในการรองรับความต้องการในอนาคต

ผสานพลังสามเทคโนโลยี 5G + Cloud +AI

องค์ประกอบหลักของเทคโนโลยีและโซลูชั่นเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลคือ การเชื่อมต่อ การเก็บข้อมูล และการประมวลผล ซึ่งการพัฒนาโซลูชั่นต่างๆในอนาคตจะพัฒนาภายใต้เทคโนโลยีหลัก 3 ส่วน คือ 5G, Cloud, และ AI ทั้งนี้ 5G จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการยกระดับการเชื่อมต่อที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งในด้านความเร็ว ความเสถียร และความหน่วงต่ำ ทำให้เกิดการเชื่อมต่ออย่างครบวงจร ไม่ใช่แค่การเชื่อมต่อของสมาร์ทโฟน แต่เป็นยังรวมถึงอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์อื่นๆ เช่น อุปกรณ์ IoT, นาฬิกา รถยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย และ 5G จะมีแบนด์วิธและความเร็วที่มากขึ้นและช่วยส่งข้อมูลที่มีปริมาณมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีคลาวด์จะทำให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลปริมาณมากอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้มีการคาดหมายว่าองค์กรต่างๆจะมีการใช้คลาวด์เพิ่มากขึ้นเรื่อยๆ และปริมาณการใช้คลาวด์จะเป็นตัวชี้วัดระดับการเป็นดิจิทัลขององค์กรต่าง ๆ หลังจากมีการเชื่อมต่อที่สมบูรณ์และประมาณการเก็บข้อมูลที่เพียงพอแล้ว เทคโนโลยี AI จะมีส่วนเข้ามาช่วยประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้องค์กรต่าง ๆ สามารถยกระดับการให้บริการได้อย่างยืดหยุ่นและหลากหลาย 

5G เพื่อปลดล็อกการเชื่อมต่อที่สมบูรณ์แบบ

การเชื่อมต่ออย่างมีศักยภาพเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน และ 5G เป็นโซลูชันที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการเชื่อมต่ออย่างแท้จริง ประการแรกคือเกิดการเชื่อมต่อแบบกิกะบิตที่ต้องการความเร็วสูงที่ 5G สามารถทำได้ นำไปสู่การเกิดการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมความบันเทิงอย่างแพร่หลาย ต่อมาคือการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อัตโนมัติต่าง ๆ เช่น รถไร้คนขับ ซึ่งการเชื่อมต่อลักษณะนี้ไม่ได้เป็นการเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมเพียงอย่างเดียว รถอัตโนมัติแต่ละคันยังจะต้องเชื่อมต่อเพื่อสื่อสารกันเอง ก่อให้เกิดการทำงานประสานกันได้อย่างลื่นไหล และประการสุดท้ายคือการเชื่อมต่อที่ต้องการความหน่วงต่ำพิเศษเพื่อความแม่นยำในการสั่งงาน เช่น การใช้งานในหุ่นโดรนหรือควบคุมเครื่องจักรต่าง ๆ ที่ต้องการตอบสนองอย่างทันที เป็นต้น

5G รวมถึงเทคโนโลยีด้านการเชื่อมต่อและการประมวลผลอื่นๆ จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมให้ไปสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคง การเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพจะทำให้เกิดการนำเทคโนโลยีเข้าไปยกระดับอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และเมื่อผสานรวมกับเทคโนโลยี Cloud และ AI จะเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทย รองรับการเป็นดิจิทัลฮับแห่งอาเซียนได้อย่างแท้จริง


ใหม่กว่า เก่ากว่า